สธ. เผย WHO พบผู้ป่วย "ไข้หวัดนก H5N2" เสียชีวิตรายแรกที่เม็กซิโก

14 มิ.ย. 2567 | 13:10 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มิ.ย. 2567 | 13:12 น.

กรมควบคุมโรค เผย WHO รายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 เสียชีวิตรายแรกที่ประเทศเม็กซิโก แนะประชาชนเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจพบแพทย์ทันที

14 มิถุนายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงาน โดยศูนย์ประสานงานแห่งชาติ (NFP) ของกฎระเบียบด้านสุขภาพระหว่างประเทศของเม็กซิโก (IHR) พบผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ป่วยเพศชาย อายุ 59 ปี

เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 17 เมษายน  2567 ด้วยอาการหายใจลำบาก มีไข้ ท้องเสีย คลื่นไส้ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา และเสียชีวิตในวันเดียวกัน ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัว ได้แก่ ไตวายเรื้อรัง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือสัตว์อื่นๆ มาก่อน ยังไม่ทราบแหล่งที่มาของการสัมผัสเชื้อที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตาม มีการรายงานพบการระบาดของไข้หวัดนก H5N2 ในฟาร์มสัตว์ปีกในรัฐเม็กซิโกในช่วงเดือนมีนาคม จากการสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม 17 ราย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัส Influenza และ SARS-CoV 2 ผู้ป่วยรายนี้นับเป็นผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ในมนุษย์รายแรก

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้น ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 มาก่อน นอกจากนี้ไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศมาตั้งปี 2549 เป็นต้นมา

ส่วนการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N2 ทั้งในคนและในสัตว์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพพร้อมตรวจวินิจฉัยเชื้อดังกล่าวได้ นพ.ธงชัย กล่าว

การเตรียมความพร้อมในด้านการป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก  โดยกรมควบคุมโรค ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One health) มีการดำเนินการด้านเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนข้อมูลและฝึกซ้อมแผนร่วมกันแบบบูรณาการอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพคนและสัตว์ จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมโรคไข้หวัดนก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  

ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก และมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก หายใจลำบากภายใน 14 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง ประวัติสัมผัสสัตว์ปีก หรือประวัติเสี่ยงต่าง ๆ หากท่านมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422