นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการสัมมนาวิชาการ คนไทยรอบรู้สู้ฝุ่น ในหัวข้อ “อากาศสะอาด สุขภาพดี : สูงวัย ปลอดภัยจากฝุ่นละออง PM2.5”ว่า สถานการณ์ PM2.5 พบเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งค่า PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากกลไกของร่างกายในการป้องกันโรคลดลงตามอายุ และอาจมีโรคเรื้อรัง หรือโรคประจำตัวที่ทำให้ไวต่อการเจ็บป่วยมากขึ้น
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้สูงอายุทั่วโลกที่ขาดการดูแลอย่างถูกต้องและได้รับ PM2.5 เกินมาตรฐานที่กำหนด ส่งผลให้มีอาการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้นถึง 7.6% และจากการสำรวจผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 - ปัจจุบัน พบว่า ผู้สูงอายุ 41.5% มีอาการจากการรับสัมผัส PM2.5 โดยกว่า 11.2% มีอาการระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย และมีแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น กรมอนามัย จึงได้จัดการสัมมนาขึ้น เพื่อสื่อสาร สร้างความรอบรู้ และนำเสนอมุมมอง ส่งเสริมนวัตกรรม เพื่อป้องกันความเสี่ยงของสุขภาพให้ผู้สูงอายุไทยปลอดภัยจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีวิทยากรจากกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มาร่วมแลกเปลี่ยนในครั้งนี้
นางสาวกาญจนา สวยสม ผู้อำนวยการส่วนการจัดการคุณภาพอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ยังคงมีแนวโน้มเกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนจุดความร้อนและฝุ่นละอองที่ลดลงจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยทั่วประเทศจะยังคงมีแนวโน้มเกินมาตรฐานไปถึงช่วงปลายเมษายน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุได้
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามสถานการณ์ PM2.5 และ AQI อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์คุณภาพอากาศจาก Air4Thai รวมทั้งแอพลิเคชันจากหน่วยงานอื่นทั้ง GISTDA หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นประโชน์ต่อการวางแผน รู้เท่าทันป้องกันดูแลตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5 ได้อย่างเหมาะสม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรวรรณ ศิริชนะ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ฝุ่นละออง PM2.5 สามารถผลกระทบต่อสุขภาพได้ หากกลุ่มเสี่ยงหายใจเอาอากาศที่มีสารมลพิษจะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากขึ้น โดยผู้สูงอายุถือเป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงมากขึ้นได้ เนื่องจาก PM2.5 จะไปกระตุ้นโรคให้กำเริบ การได้รับมลพิษในเวลานานทำให้สมองเสื่อมไวกว่าปกติ มีอาการทางสมองมากขึ้น ในกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ด้วยอาการทางระบบหายใจ ไอ มีเสมหะ รวมถึงการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคระบบการหายใจ
“ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ จะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกตอาการ ในช่วงที่ PM2.5 สูง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ เจ็บหน้าอก เมื่อยล้าผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์ ตรวจสอบคุณภาพอากาศสม่ำเสมอ งดกิจกรรมภายนอก เมื่อคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยตรง ทำความสะอาดบ้าน และอยู่ในพื้นที่ปลอดฝุ่น และที่สำคัญ คือ ต้องเร่งสร้างความตระหนัก ประชาสัมพันธ์ ให้เข้าใจถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม ดูแลป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงวรวรรณ กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึง สถานการณ์ในพื้นที่ภาคเหนือที่มีความรุนแรงในทุกปี คณะทำงานวิชาการฯ จึงได้สร้างความรอบรู้และพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อดูแลสุขภาพ ทั้งส่งเสริมการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัย / ห้องปลอดฝุ่น โดยมีหลักการสำคัญ คือ “กันฝุ่นข้างนอกไม่ให้เข้าห้อง กรองฝุ่นในห้อง ดันฝุ่นออกจากห้อง” ปัจจุบันมีการดำเนินการในโรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หอพักนักศึกษา และพัฒนาไปสู่ “มุ้งสู้ฝุ่น” สำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถกั้นฝุ่นข้างนอกได้บาก และมีราคาประหยัด โดยใช้หลักการทำแรงดันบวก ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง รวมถึงผู้สูงอายุได้
“ท้ายสุด เนื่องในช่วงวันที่ 13 เมษายนนี้ จะเป็นวันผู้สูงอายุไทย ในบางพื้นที่ยังคงมีแนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐาน รวมทั้งสถาพอากาศที่ร้อนจัด จึงขอให้ บุตร-หลาน ร่วมดูแลป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 ผู้สูงอายุ ก่อนออกจากบ้านทุกครั้งให้ติดตามสถานการณ์ หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้เลือกสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น งดการออกนอกบ้านและอยู่ในห้องปลอดฝุ่น หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ
สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยา และอุปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา และหมั่นดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกาย ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ป้องกันฮีทสโตรก และหลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ชุมชน สวมหน้ากาก ล้างมือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจด้วย
ทั้งนี้ สามารถประเมินอาการเสี่ยงจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง PM2.5 ด้วยตนเองผ่านทาง 4HealthPM2.5 เพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลสุขภาพ และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมอนามัย 1478” นายแพทย์อรรถพล กล่าว