ชวน รพ.เอกชน ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ "บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่" 

06 ก.พ. 2567 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ก.พ. 2567 | 13:03 น.

สปสช. ชวน รพ.-คลินิกเอกชนในจังหวัดนำร่อง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว สมัครขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อร่วมดูแลประชาชน ยัน ปรับระบบใหม่ ลดภาระเอกสาร ลดระยะเวลาตรวจประเมิน พร้อมประกาศขึ้นทะเบียนให้เร็วขึ้น 

หลังจากรัฐบาลเดินหน้า นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หรือ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยเปิดให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ประกอบด้วย แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายสู่ระยะที่ 2 อีก 8 จังหวัดซึ่งจะเริ่มในเดือนมีนาคม 2567 นี้ ได้แก่

  • นครราชสีมา
  • นครสวรรค์
  • พังงา
  • เพชรบูรณ์
  • สระแก้ว
  • สิงห์บุรี
  • หนองบัวลำภู
  • อำนาจเจริญ

ดังนั้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว สปสช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิบัตรทอง จึงขอเชิญชวนสถานพยาบาลเอกชนประเภทต่าง ๆ รวมถึงร้านยาในพื้นที่ 12 จังหวัดนี้ เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบเพื่อดูแลประชาชนไปด้วยกัน

 

ทั้งนี้ หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนโดยในส่วนของสถานพยาบาลภาคเอกชนนั้น เปิดรับสมัครหลากหลายประเภทเพื่อให้มีหน่วยบริการที่ครอบคลุมในทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวก ดังนี้ 

  • โรงพยาบาลเอกชน
  • คลินิกเวชกรรม
  • คลินิกการพยาบาล
  • คลินิกทันตกรรม
  • คลินิกกายภาพบำบัด
  • คลินิกเทคนิคการแพทย์
  • คลินิกแพทย์แผนไทย
  • ร้านยา

นอกจากนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาได้ในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายในระบบ สปสช. ยังได้ปรับปรุงระบบ back office อื่น ๆ เช่น ระบบการรับสมัครและขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในระบบ ได้ปรับให้เป็นแบบ One Stop Service

รวมถึงลดความยุ่งยากในเรื่องเอกสารต่าง ๆ ลดระยะเวลาในการตรวจประเมินและประกาศขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ สร้างความสะดวกรวดเร็วแก่สถานพยาบาลและร้านยาที่มาสมัครขึ้นทะเบียนมากขึ้น 

นพ.จเด็จ อธิบายถึงในขั้นตอนแบบ One Stop Service ว่า อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากเดิมที่หน่วยบริการต้องสแกนเอกสาร ทั้งแบบฟอร์มสมัคร ใบรับรองจากกรมพัฒนาการค้า ใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ใบประกอบวิชาชีพก็เปลี่ยนเป็นการแจ้งความประสงค์ผ่านระบบ ThaID แล้ว

ชวน รพ.เอกชน ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ \"บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่\" 

สปสช. จะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานรับรองโดยตรง หรือการตรวจเอกสารที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ก็จะเปลี่ยนเป็นการตรวจโดยโปรแกรม ทำให้ระยะเวลาการสมัครจนถึงขั้นประกาศขึ้นทะเบียนลดลงจาก 30 วัน เป็นไม่เกิน 3 วัน 

ขั้นต่อไป สปสช. ได้พัฒนาระบบนิติกรรมสัญญา โดยเชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องบัญชี และหลักประกันสัญญา และมีการจัดทำและลงนามสัญญาในระบบ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียน

โดยปรับปรุงระบบฐานข้อมูลหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแบบอัตโนมัติ และการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการให้รองรับการนําไปใช้เพื่อการบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งเปิดให้หน่วยบริการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลของตนเองและ export ไปใช้งานได้อีกด้วย 

ชวน รพ.เอกชน ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ \"บัตรปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่\" 

ส่วนการให้บริการทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ ในฝั่งของการสนับสนุน สปสช. พยายามอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการให้มากที่สุด

ทั้งระบบการขึ้นทะเบียนที่สะดวกรวดเร็ว และพัฒนาระบบ new-eClaim ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่หน่วยบริการในการเบิกเงิน รวมทั้งเวลาการจ่ายเงินค่าบริการให้หน่วยบริการภายใน 72 ชั่วโมงเพื่อให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนหน่วยบริการต่างๆในพื้นที่จังหวัดนำร่องนี้เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบ สปสช.จะอำนวยความสะดวกแก่ท่านให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยบริการเอกชนในจังหวัดนำร่องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบกว่า 700 แห่ง โดยหน่วยบริการสามารถสมัครได้ที่ https://ossregister.nhso.go.th สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 กด 5 (provider center)