"ศิริราช"ผุดนวัตกรรมรักษาริ้วรอยบนใบหน้า ให้ผลดีกว่า "ฟิลเลอร์"

10 มิ.ย. 2566 | 12:12 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มิ.ย. 2566 | 12:13 น.

"ศิริราช"ผุดนวัตกรรมรักษาริ้วรอยบนใบหน้า ให้ผลดีกว่า "ฟิลเลอร์" ชี้เป็นครั้วแรกของเอเชียด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์ เผยวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์และจดอนุสิทธิบัตรเทคนิคการเพาะเลี้ยงแล้ว

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดเผยว่า ศิริราชคิดค้นนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์ไฟโบรบลาสต์ เพื่อการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าครั้งแรกของเอเชีย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการฉีดสารเติมเต็มมีการพัฒนาและเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก ประชาชนตัดสินใจเข้ารับบริการโดยอาจจะไม่ได้ศึกษาให้ครอบคลุมทุกมิติ จึงเกิดประเด็นความไม่ปลอดภัย จากผลข้างเคียงที่รุนแรงและสำคัญ คือ การอุดตันของเส้นเลือดโดยตรง หรือเพิ่มความดันรอบเส้นเลือดจนเกิดการอุดตัน 

ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เสียค่าใช้จ่ายในการนำสารเติมเต็มออก จากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นำมาสู่การผลิตงานวิจัยชิ้นที่จะเปลี่ยนวงการการรักษาริ้วรอย ผนวกกับการสร้างเทคโนโลยีที่มีคุณค่าด้วยการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของผู้รับบริการ

ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา อาจารย์ประจำภาควิชาตจวิทยา กล่าวว่า ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความงามหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการเติมเต็มริ้วรอย รูปหน้า และร่องลึก 

สำหรับวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ การใช้สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ แต่ผลการรักษาอยู่ได้ไม่นาน ต้องฉีดเพิ่มบ่อยครั้งและมีผลข้างเคียง เช่น อาจเกิจอาการแพ้ มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อฟิลเลอร์ ทำให้มีอาการเป็นก้อนนูนแดง อักเสบ ติดเชื้อ ต้องได้รับการฉีดสลายฟิลเลอร์ เพิ่มค่าใช้จ่ายทวีคูณ 

หรือกรณีร้ายแรงที่สุดอาจเกิดเนื้อตาย หรือตาบอด เนื่องจากฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันที่เส้นเลือดโดยตรง ซึ่งการฉีดฟีลเลอร์บนใบหน้าใช้มากกว่า 20 ปี โดย 10 ปีที่ผ่านมามีการใช้เพิ่มมหาศาล 

แต่คนไข้บางรายยังเกิดปฏิกิริยาต่อต้านสารที่ฉีด จึงนำมาสู่แนวคิดวิจัยและพัฒนาฟิลเลอร์จากเซลล์ของผู้รับบริการเอง จะช่วยลดความเสี่ยง ลดอาการแพ้ เกิดการต่อต้านน้อย ไม่เป็นอันตรายกับร่างกาย และลดโอกาสการฉีดสารเติมเต็มเข้าเส้นเลือด

ศ.พญ.รังสิมา กล่าวอีกว่า เซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดริ้วรอย คือ เซลล์ชั้นหนังแท้ หรือเซลล์ชนิดเดอมอลไฟโบรบลาสต์ ในการผลิตคอลลาเจน ที่ช่วยพยุงโครงสร้างเซลล์ให้ผิวหนังแข็งแรง ริ้วรอยและความยืดหยุ่นที่น้อยลง ดังนั้น เซลล์ชนิดนี้จึงมีความน่าสนใจในการศึกษาและน่าจะตอบโจทย์นำมาพัฒนา เพื่อโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์ในท้องตลาดทั่วไปได้เป็นอย่างดี 

ซึ่งการวิจัยได้ศึกษาด้วยการฉีดที่ร่องแก้มคนไข้เทียบเคียงฉีดฟีลเลอร์ พบว่า การฉีดด้วยฟิลเลอร์จะสวยทันทีใน 1 เดือนแรก จากนั้นจะเริ่มตก ขณะที่ฉีดด้วยเซลล์ไฟโบรบลาสต์จะสวยคงที่ต่อเนื่องถึง 1 ปี เซลล์ดังกล่าวสามารถใช้ได้ทั่วใบหน้า ขณะนี้กำลังต่อยอดวิจัยการฉีดลดริ้วรอยรอบดวงตา ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยง รวมถึงศึกษาการฉีดสำหรับรักษาแผลเป็น แผลไฟไหม้

ศ.พญ.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา กล่าวว่า การรักษาด้วยเซลล์หรือเซลล์บำบัด ศิริราชมีทีมที่มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงเซลล์ผิวหนัง ตั้งแต่แยกเซลล์เดอมอลไฟโบรบลาสต์จาก Tissue และการเลี้ยงเซลล์ โดยใช้อาหารเลี้ยงเซลล์ที่ได้มาตรฐานและสัดส่วนที่พอเหมาะ ทำให้ได้เซลล์ Dermal Fibroblasts ที่แข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการผลิตคอลลาเจนและแก้ไขปัญหาของผู้รับบริการได้ตามเป้าหมาย 
 

โดยการวิจัยครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์และจดอนุสิทธิบัตรเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่าเซลล์ผิวหนังทั้งชนิดที่อยู่ที่ชั้นหนังกำพร้าและ Dermal Fibroblasts สามารถหลั่งสารชีวโมเลกุลที่ช่วยชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ข้างเคียง ทำให้เซลล์ซ่อมแซมตัวเองได้ในระดับโมเลกุล ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของยีนที่ควบคุมการสร้างคอลลาเจน 

และกลไกต่าง ๆ เช่น การยับยั้งภาวะอักเสบ ภาวะเครียดของเซลล์ เป็นต้น จากผลการวิจัยพบว่า เซลล์ไฟโบรบลาสต์สามารถคงอยู่ในชั้นผิวหนังได้นานอย่างน้อย 1 ปี ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม ผู้รับบริการจึงไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นบ่อยครั้ง นำมาสู่การรักษาทางคลินิก

สำหรับผู้ที่สนใจต้องเก็บเซลล์บริเวณหลังหู ประมาณ 3-4 มิลลิเมตร เนื่องจากเซลล์ที่เก็บบริเวณหลังหูเป็นส่วนที่โดนแดดน้อยที่สุด โดยเก็บเพียงครั้งเดียว เซลล์สามารถอยู่ได้นานถึง 5 ปี โดยจะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์จนได้ปริมาณที่ต้องการ และจึงนำมาฉีดกลับเข้าไปยังบริเวณที่ผู้รับบริการมีปัญหา โดยระยะเพาะเนื้อเยื่อครั้งแรกใช้เวลา 5 สัปดาห์ 

จากนั้นก็เลี้ยงไปอีก 2-3 สัปดาห์ การมาฉีดต้องให้ครบ 3 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 9 สัปดาห์ ภายหลังจากการฉีด ผู้รับบริการจะไม่เกิดอาการแพ้ ดังเช่นที่พบหลังการฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากเซลล์ไฟโบรบลาสต์ที่ฉีดนั้น มีลักษณะคล้ายน้ำเกลือสีขาวขุ่น เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายจึงไม่ทำให้เส้นเลือดเกิดการอุดตันได้

ผศ.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการบริหาร บริษัท เซลแทค จำกัด กล่าวว่า แต่ละครั้งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาท เนื่องจากเป็นนวัตกรรมครั้งแรกที่คิดค้น ต่อไปราคาน่าจะถูกขึ้น แต่คุ้มกว่าการฉีดฟิลเลอร์