งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ? “คาโรชิ ซินโดรม” โรคทำงานหนักจนตาย

07 ก.พ. 2566 | 10:16 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2566 | 10:21 น.
582

งานหนักไม่เคยฆ่าใคร ? ทำความรู้จัก “คาโรชิ ซินโดรม” โรคทำงานหนักจนตาย มีอาการอย่างไร ปัจจัยเสี่ยงเเละวิธีป้องกัน

รู้ไหมว่า องค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่า คนทำงานกว่า 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 35% และเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับคนที่มีชั่วโมงการทำงานมาตรฐานที่ 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ขณะที่ข้อมูล ในปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 745,000 คน เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับปี 2000 โดยจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักนี้ แบ่งออกเป็น เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก 398,000 คน เสียชีวิตจากโรคหัวใจ 347,000 คน เเละจากสถิติขององค์การอนามัยโลกก็ยังพบอีกว่าประชากรโลกกว่า 9% เป็นคนที่ต้องเผชิญกับการทำงานหนัก

 

ข่าวคราวในบ้านเราก็เคยเกิดขึ้นหลายเคส ซึ่งล่าสุด 5 ก.พ. 2566 เพจจอดับ โพสต์กรณี นักจัดผังรายการ วัย 40 กว่า ทำงานหนักมาอย่างต่อเนื่องฟุบเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน  โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 

อ่านเพิ่มเติม : สุชาติ สั่งสอบสภาพจ้างงาน ปม'พนักงานโหมงานดับ'ชี้โทษหนักฝ่าฝืน

จากกรณีดังกล่าว ทำให้ต้องหวนกลับมาพิจารณาประโยคที่ว่า “งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย”จริงหรือไม่ เพราะในความจริงแล้วหลายเคสก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทุ่มเททำงานหนักสร้างผลกระทบต่อสภาพร่าง กายเเละจิตใจ 

ในประเทศญี่ปุ่นหลายปีก่อนก็มีภาวะที่คนทำงานหนักจนเสียชีวิตหรือที่เรียกว่า “คาโรชิ” (Karoshi) ซึ่งเกิดจากการทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ เครียด อ่อนเพลีย จนเกิดความผิดปกติต่อร่างกายและอารมณ์ นำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ในปี 2013 มีคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยกรณีที่พนักงานเสียชีวิตจากการทำงานถึง 1,456 คดี ขณะที่ในปี 2020 มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโรคคาโรชิมากกว่า 2,800 รายการ เพิ่มขึ้น 43%  จนบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากให้พนักงานทำงานได้ 4 วันต่อสัปดาห์  ทำให้พนักงานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

คาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) 

โรคนี้เกิดจากการทำงานหนักติดต่อกันเป็นเวลานานจนไม่มีเวลาพักผ่อน ส่งผลให้เกิดความเครียด มีอาการอ่อนเพลีย เกิดความผิดปกติทางร่างกายและความผิดปกติทางอารมณ์ จนนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด 

โรคนี้ พบบ่อยในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เพราะวัฒนธรรมที่กดดันเรื่องการทำงานอย่างหนัก ส่วนมากเกิดจากวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรที่สร้างความกดดันให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างหนักจนก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน เช่น การตั้ง KPI ที่สูงเกินกว่าจะสามารถเอื้อมถึง รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป

อาการโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome)

1.หมกมุ่นเรื่องงานแทบจะตลอดเวลา 

2.ทำงานล่วงเวลาติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

3.เริ่มงานเร็ว และเลิกงานช้า ติดต่อกันเป็นเวลานาน

4.ไม่ค่อยได้ลางาน ไม่ว่าจะลาป่วย ลาพักผ่อน ลากิจ

5.เคร่งเครียดจากการทำงาน ทำงานภายใต้ภาวะกดดัน

6.นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท อ่อนเพลีย ฝันถึงเรื่องงานบ่อยๆ 

วิธีป้องกันคาโรชิซินโดรม

1.ควรรู้จักการทำงานให้พอดี ไม่ตรากตรำทำงานหนักจนเกินไป

2,แบ่งเวลาให้สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ

3,ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบและมีความสุข

4,พักผ่อนให้เพียงพอ หากมีปัญหากับการนอน ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

5.ออกกำลังกาย

6.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

7.รู้จักการปล่อยวาง

8.ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน หรือคิดต่อที่บ้านมากจนเกินไป 

ปรัชญาการทำงาน Work Life Balance คือการบาลานซ์ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุลกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทำงานควรทำ เพราะการทุ่มเทให้กับการทำงานมากจนเกินไปอาจกระทบกับร่างกายเเละความสุขในชีวิตของเรา นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากให้ทุกคนเริ่มหันมาสนใจ “ผลกระทบ” จากการทำงานหนักมากเกินไปเเละหันมาดูเเลสุขภาพร่างกายเเละจิตใจให้มากขึ้น 

ข้อมูล : japantoday WHOasia.nikkei , npr.org