สุชาติ สั่งสอบสภาพจ้างงาน ปม'พนักงานโหมงานดับ'ชี้โทษหนักฝ่าฝืน

07 ก.พ. 2566 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2566 | 10:31 น.

ปม"พนักงานทำงานหนักเสียชีวิต" สุชาติ สั่ง สนง.ประกันสังคม- กสร.เร่งช่วยเหลือ พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริง ชี้หากนายจ้างฝ่าฝืนกม.คุ้มครองแรงงาน โทษหนักถึงจำคุก

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตนได้รับรายงานข่าวของ พนักงานฝ่ายจัดทำผังรายการทีวี ( TNN) เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ผมขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมนี้ ได้มอบหมายให้นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ให้กับทายาทผู้เสียชีวิต พร้อมตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยด่วน
        
ในส่วนสำนักงานประกันสังคม ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่า ผู้เสียชีวิตชื่อ นายศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ อายุ 44 ปี เป็นพนักงานบริษัท ไทยนิวส์ เน็ตเวิร์ค (TNN ) จำกัด เสียชีวิต จากกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันบนโต๊ะทำงาน ซึ่งบริษัทฯ ของลูกจ้างที่เสียชีวิตอยู่ในเขตความผิดชอบของสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3 ซึ่งหากกรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้ 

 

สิทธิประโยชน์เสียชีวิตจากทำงาน/ไม่เนื่องจากทำงาน

สิทธิประโยชน์ : เสียชีวิตเนื่องจากการทำงาน

  • เงินค่าทำศพ จ่ายให้แก่ผู้จัดการศพ จำนวน 50,000 บาท
  • เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจ่ายให้ทายาทผู้มีสิทธิ ในอัตราร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 10 ปี
  • เงินบำเหน็จชราภาพจากกองทุนประกันสังคม 

 

สิทธิประโยชน์ :  เสียชีวิตไม่เนื่องจากการทำงาน 

  • เงินค่าทำศพ 50,000 บาท
  • เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 
  • เงินบำเหน็จชราภาพ  โดยทายาทผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ได้รับ

 

สั่งตรวจสอบสภาพการจ้างงาน"นายจ้าง"       

สำหรับในส่วนของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ขณะนี้พนักงานตรวจแรงงานอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานว่านายจ้างปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เช่น นายจ้าง ได้จัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้กับลูกจ้างหรือไม่ ถ้านายจ้างให้ทำงานโดยไม่ได้กำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์ ถือว่านายจ้างมีความผิด 
 

ในกรณีที่นายจ้างให้ทำงานล่วงเวลาต้องดูว่าได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือไม่ กรณีที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างมีเพียงกรณีเดียว คือลักษณะของงานที่ต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน จึงจะสามารถสั่งให้ลูกจ้างทำได้ 

 

เปิดโทษ"นายจ้าง" ฝ่าฝืนกฏหมายคุ้มครองแรงงาน

อย่างไรก็ตามการที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันหยุด ทำงานล่วงเวลา และทำงานล่วงเวลาในวันหยุดต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วยว่า สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง หากพบว่านายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
      
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมและกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมเข้าดูแลสิทธิประโยชน์อันมีเป้าหมายการให้บริการและสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตแก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดเป็นสำคัญ