กาแฟ เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่มีงานวิจัยยืนยันถึงประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพ ล่าสุดมี งานวิจัยจากเดนมาร์ก ระบุว่า ถ้าเติม นมสด ผสมลงไป กาแฟจะช่วยเพิ่มพลังให้ภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ต้านการอักเสบในร่างกาย ได้มากขึ้นด้วย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ศึกษาปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีอยู่มากในกาแฟ กับกรดอะมิโนหรือโปรตีนชนิดต่าง ๆ ในอาหารที่เรากินเข้าไ ป ผลทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า เมื่อสารทั้งสองชนิดทำปฏิกิริยากัน สารผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะออกฤทธิ์เสริมให้เม็ดเลือดขาวยับยั้งการอักเสบในร่างกายได้ดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับตอนที่ใช้สารโพลีฟีนอลเพียงอย่างเดียว
รายงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “เคมีในการเกษตรและอาหาร” (Journal of Agricultural and Food Chemistry) เนื้อหาระบุว่า มีการทดลองให้เซลล์เม็ดเลือดขาวอยู่ในภาวะที่จำลองการอักเสบ แล้วให้สารโพลีฟีนอลกับเม็ดเลือดขาวจำนวนหนึ่ง ในขณะที่เม็ดเลือดขาวอีกกลุ่มได้รับทั้งสารโพลีฟีนอลในปริมาณที่เท่ากันและได้รับกรดอะมิโนด้วย ซึ่งผลปรากฏว่าเม็ดเลือดขาวกลุ่มหลังสามารถต่อสู้ยับยั้งการอักเสบได้ดีกว่าถึง 2 เท่า ซึ่งทีมผู้วิจัยบอกว่ากรดอะมิโนอาจเป็นตัวการสำคัญที่ช่วยให้เม็ดเลือดขาวดูดซึมโพลีฟีนอลไปใช้ต้านการอักเสบได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ ในขั้นต่อไปทีมผู้วิจัยมีแผนจะทดสอบปฏิกิริยาเคมีดังกล่าวในสัตว์ทดลองและมนุษย์ ซึ่งถ้าสามารถยืนยันผลการทดลองได้เช่นเดิม ก็จะนำความรู้นี้ไปเป็นแนวปฏิบัติใหม่ด้านโภชนาการ โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยโพลีฟีนอลคู่กับโปรตีนเสมอ เช่น ดื่มชาและกาแฟที่ใส่นม หรือรับประทานเนื้อสัตว์คู่กับผักผลไม้ที่มีโพลีฟีนอลสูง
รายงานระบุว่า การอักเสบ หรือ inflammation ในร่างกายมนุษย์นั้น มีสาเหตุจากภาวะเครียด เพราะปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งก็คือการที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่าง ๆ ภายในเซลล์จนเสียหาย ขณะที่เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นหนักเกินไปจนอ่อนล้าบาดเจ็บ
ส่วนสารจำพวกโพลีฟีนอลซึ่งเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ สามารถยับยั้งการอักเสบได้ดีและมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของมนุษย์เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะช่วยป้องกันความเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ รวมทั้งชะลอวัยโดยยับยั้งความเสื่อมถอยของร่างกาย พบได้มากในผักผลไม้หลายชนิด รวมทั้งชา กาแฟ เบียร์ และไวน์แดง
ที่มา BBC, ANI