ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความว่า
โรคโควิด19 เข้าสู่โรคประจำฤดูกาล มีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น
ดังที่ได้เคยกล่าวไว้ โรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล จะพบมีการระบาดอย่างมากในฤดูฝน ในช่วงนักเรียนเปิดเทอมแรก
และจะลดลงในช่วงปิดเทอม เดือนตุลาคม หลังจากนั้นเมื่อนักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูหนาว
จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไปและจะอยู่ในจุดสูงสุดในเดือนมกราคม
แต่จะพบความชุกน้อยกว่าในช่วงฤดูฝน และจะค่อยๆสงบลง
ในเดือนมีนาคมจนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่พบน้อยที่สุด
และจะไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่งของโรคทางเดินหายใจ ในเดือนมิถุนายน เป็นวงจรตามฤดูกาลของประเทศไทย
เช่นเดียวกันกับโรคโควิด-19 นับจากวันนี้เป็นต้นไป มีแนวโน้มจะพบเพิ่มสูงขึ้น และจะถึงจุดสูงสุดหลังปีใหม่ ตามฤดูกาล
ในประเทศซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ จะสูงสุดในช่วงฤดูหนาว ของซีกโลกนั้น
ดังนั้น โรคนี้กำลังจะค่อยๆสูงขึ้นในยุโรปและอเมริกาอีกครั้งหนึ่ง เพราะกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว
แต่ประเทศไทยมีฤดูหนาวที่สั้นมาก และไม่ได้หนาวจริง มีแต่ร้อน ร้อนมาก ร้อนน้อย
จึงพบโรคทางเดินหายใจได้เกือบตลอดปี แต่จะพบมากในฤดูฝน และเป็นช่วงที่เด็กเปิดเทอมแรกของปี
การเตรียมตัวตั้งรับ โรคโควิด 19 ระบาดรอบใหม่ จะต้องเตรียมตัวได้แล้วเราจะเห็นผู้ป่วยเพิ่มขึ้น
รวมทั้งผู้ป่วยที่จะต้องเข้านอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็จะไม่มากเท่าในช่วงระบาดสูงสุดที่ผ่านมา
ปัญหามีอยู่ว่า สำหรับปีหน้า ที่จะมีการระบาดอย่างมากในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
ในปีต่อไปเราจะเตรียมวัคซีนอย่างไร ต้องเตรียมจำนวนมากเท่าไหร่
หรือจัดเตรียมกระตุ้นแบบไข้หวัดใหญ่ คือให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงที่เป็นแล้ว จะรุนแรง
องค์ความรู้งานวิจัยเท่านั้น ที่จะมาแก้ไขปัญหา ให้มีการใช้ทรัพยากร และงบประมาณอย่างเหมาะสม
เพราะข้อมูลต่างๆของการเข้าสู่โรคประจำฤดูกาล เป็นข้อมูลใหม่ ที่จะต้องแสวงหาความรู้จากการวิจัยเท่านั้น