จีนสั่งล็อกดาวน์โรงงานผลิต iPhone ใหญ่สุดในโลก กระทบคนงาน 2 แสนรายเซ่นโควิด

03 พ.ย. 2565 | 13:05 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2565 | 20:16 น.
2.0 k

จีนสั่งล็อกดาวน์โรงงานผลิต iPhone ใหญ่สุดในโลก กระทบคนงาน 2 แสนรายเซ่นโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อระดับ 100 รายหลายวัน

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

จีนสั่งล็อกดาวน์โรงงานผลิต iPhone ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว มีผลกระทบคนงาน 2 แสนคนทันที

 

รายงานข่าวล่าสุดจากประเทศจีนแจ้งว่า ทางการจีนได้สั่งล็อกดาวน์พื้นที่บริเวณรอบโรงงาน iPhone ที่ใหญ่ที่สุดของโลก หรือ ฟ็อกซ์คอน(Foxconn)

 

โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตชิ้นส่วนของโทรศัพท์มือถือมากถึง 70% และมีพนักงานทำงานมากถึง 200,000 คน

 

โดยการล็อกดาวน์ดังกล่าว จะกระทบผู้คนทั้งบริเวณประมาณ 600,000 คน เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อในระดับ 100 รายต่อวันมาหลายวัน 

 

และที่สำคัญมีพนักงานจากโรงงานได้หลบหนีออกมาจากเขตพื้นที่ จึงมีการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นมากขึ้น
 

โรงงานฟ็อกซ์คอนตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ในตอนกลางของประเทศจีน เคยล็อกดาวน์มาแล้วเมื่อเมษายนที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไปได้ การล็อกดาวน์ครั้งนี้ ทางการจีนจึงอนุญาตให้โรงงานผลิต iPhone ดังกล่าว ดำเนินการผลิตตามปกติต่อไปได้ เพียงแต่ไม่อนุญาตให้คนงานออกนอกเขตโรงงาน

 

เนื่องจากกำลังเข้าสู่ปลายปี ซึ่งจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองทั่วโลก ยอดขายของบริษัทโทรศัพท์มือถือก็จะเพิ่มขึ้น จึงเป็นช่วงสำคัญที่จะหยุดการผลิตไม่ได้

 

ทางบริษัทจึงได้ใช้มาตรการให้โบนัสเพิ่มเติมกับพนักงาน ขอให้อยู่ทำงานต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้ 

 

โดยที่ต้องทำงาน พักผ่อน และอยู่อาศัยภายในโรงงานเท่านั้น โดยโบนัสนั้นจะได้เพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าตัว

 

แต่ก็ยังคงมีพนักงานบางส่วนที่ไม่พอใจทั้ง สภาพที่อยู่อาศัย อาหาร 
 

และที่สำคัญคือรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ แต่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ เป็นความเสี่ยง

 

นับเป็นมาตรการยืดหยุ่นภายใต้มาตรการเข้มข้นของ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลจีน (Zero Covid)

 

เป็นลักษณะ Bubble & Seal แบบที่ประเทศไทยเคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว คือให้โรงงานทำงานต่อไปได้ แต่ห้ามคนเข้าออก เป็นสมดุลระหว่างมิติสาธารณสุขกับมิติเศรษฐกิจ

 

นับเป็นการปรับมาตรการย่อย ภายใต้นโยบายหลัก “โควิดเป็นศูนย์” ที่ทางการจีนยืนหยัดต่อเนื่องมาโดยตลอด