ผวา! โควิดสายพันธุ์ XBB-BQ.1.1. ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การติดเชื้อ

01 พ.ย. 2565 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2565 | 15:39 น.

ผวา! โควิดสายพันธุ์ XBB-BQ.1.1. ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การติดเชื้อ หมอธีระเผยติดเชื้อใหม่แต่ละวันทั่วโลกมาจากทวีปเอเชียและยุโรปกว่า 79.8%

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความ

 

1 พฤศจิกายน 2565...

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 166,009 คน ตายเพิ่ม 357 คน รวมแล้วติดไป 635,423,773 คน เสียชีวิตรวม 6,593,611 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 79.8 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 78.37

หมอธีระ ยังได้อัพเดตสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์ ด้วยว่า 

 

Cao YR จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ประเทศจีน ได้เผยแพร่ผลการติดตามศึกษาผลต่อระดับภูมิคุ้มกันจากการกลายพันธุ์ของไวรัส

 

ล่าสุดพบว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นดูจะมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกันคือ มีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ซ้ำกัน และดื้อต่อระดับภูมิคุ้มกันอย่างมาก

 

โควิดสายพันธุ์ XBB-BQ.1.1. ดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีน การติดเชื้อ

 

โดยระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันนั้นใกล้เคียงกับไวรัสโรคซาร์ส (SARS-CoV-1)

 

แม้ฉีดวัคซีน (CoronaVac) มาก่อนและติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron ไม่ว่าจะเป็น BA.1, BA.2, BA.5 มาแล้วก็ตาม 

 

สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นก็ดื้อต่อภูมิคุ้มกันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ทั่วโลกจับตามองกันอยู่ขณะนี้คือ XBB, BQ.1.1.x 

 

รวมถึงตัวใหม่ อาทิ CH.1.1 และ BA.4.6.3 

ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ ย้ำเตือนให้เราตระหนักถึงความสำคัญในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และใช้ชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

 

การติดเชื้อทั้งรายใหม่ รวมถึงการติดเชื้อซ้ำ ไม่ว่าจะไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงของภาวะผิดปกติระยะยาวหรือ Long COVID ได้ 

 

นอกจากนี้แม้ติดเชื้อผ่านพ้นระยะแรกจนหายแล้วก็อาจมีปัญหาการกลับซ้ำหรือ Rebound ได้ด้วย

 

ผู้อำนวยการ US CDC ที่เพิ่งติดเชื้อไปเมื่อสัปดาห์ก่อน และได้รับยาต้านไวรัส Paxlovid จนครบและตรวจ ATK เป็นลบแล้ว ก็ประสบปัญหาเรื่องอาการเป็นกลับซ้ำ (Rebound) จนต้องแยกตัว (isolation) อีกครั้ง

 

ดังนั้นหากติดเชื้อและรักษาตัวหายแล้วในช่วงแรก ก็ควรหมั่นสังเกตลักษณะดังกล่าวด้วย

 

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด 

 

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก