ผงะ! วัคซีนโควิดรุ่นใหม่อาจไม่ได้ผลในผู้ฉีดวัคซีนรุ่นเก่าหลายเข็ม

01 พ.ย. 2565 | 07:27 น.

ผงะ! วัคซีนโควิดรุ่นใหม่อาจไม่ได้ผลในผู้ฉีดวัคซีนรุ่นเก่าหลายเข็ม เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น อ่านที่นี่มีคำตอบ

วัคซีนต้านโควิดเป็นอาวุธสำคัญที่ใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

โดยล่าสุดได้มีการพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่น 2 เพื่อป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีการกลายพันธุ์

 

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana โดยระบุว่า 

 

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งออกมาจากทีม Harvard University เกี่ยวกับการตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 รุ่น 2 ในสหรัฐอเมริกา ที่เป็นสูตรผสมของ mRNA ของสไปค์ของสายพันธุ์เดิม 50% และ สายพันธุ์ BA.5 50% ให้ในอาสาสมัครเป็นเข็มกระตุ้น โดยเทียบกับกลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรเดิมคือไม่มี mRNA ของ สไปค์ BA.5

สรุปออกมาได้ดังนี้

 

  • วัคซีนทั้งสองสูตรมีแนวโน้มกระตุ้นแอนติบอดีต่อสายพันธุ์เก่าได้สูงมาก และ ได้น้อยลงต่อสายพันธุ์กลุ่มโอมิครอน (BA.1, BA.2 และ BA.5)

 

  • เมื่อพิจารณาภูมิต่อ BA.5 ในกลุ่มที่กระตุ้นด้วยวัคซีนสูตรเก่า เพิ่มจาก 184 ไป 2829 และ ในกลุ่มที่ใช้วัคซีนสูตร 2 เพิ่มจาก 211 ไป 3693 หรือ คิดเป็น 15 เท่า และ 17 เท่า ตามลำดับ ซึ่งทีมวิจัยมองว่า ความแตกต่างของการมี mRNA ของ สไปค์ BA.5 ควรจะมีมากกว่านี้

 

วัคซีนโควิดรุ่นใหม่อาจไม่ได้ผลในผู้ฉีดวัคซีนรุ่นเก่าหลายเข็ม

 

  • เมื่อเปรียบเทียบวัคซีนสูตร 2 ของทั้ง Pfizer และ Moderna พบว่าไม่ได้แตกต่างกันในการกระตุ้นภูมิต่อโอมิครอน โดยเฉพาะ BA.5 อย่างมีนัยสำคัญ แต่กลุ่มของ Moderna กระตุ้นภูมิต่อสายพันธุ์เดิมได้สูงมากกว่า Pfizer 

 

  • ค่าการจับของแอนติบอดี และ ค่าอื่นๆที่นิยมใช้ตรวจระดับแอนติบอดี เช่น ELISA ระหว่าง 2 กลุ่ม ก็ไม่พบอะไรที่แตกต่างกัน
     
  • การกระตุ้นของ T cell หลังเข็มกระตุ้นอยู่ในเกณฑ์ไม่สูงและแทบไม่เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่ม โดย CD8+T cell (เซลล์ที่จำเพาะต่อการจับโปรตีนสไปค์ของ BA.5 และ เข้าทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อโดยตรง) เพิ่มจาก 0.027% ไปที่ 0.048% ในกลุ่มกระตุ้นด้วยสูตรเก่า และ เพิ่มจาก 0.024% ไปที่ 0.046% ในกลุ่มวัคซีนสูตรใหม่ ส่วนระดับของ CD4+ T cell ที่จำเพาะต่อ BA.5 spike เพิ่มจาก  0.060% เป็น 0.130% ในกลุ่มวัคซีนเดิม และ จาก 0.051% เป็น 0.072% ในกลุ่มวัคซีนใหม่

 

  • ค่าการตอบสนองของ Memory B cell ต่อ สไปค์ BA.5 ในทั้งสองกลุ่มก็ไม่ได้แตกต่างกัน โดยกลุ่มวัคซีนเก่า ได้  0.079% และ วัคซีนใหม่ได้ 0.091%

 

ทีมวิจัยสรุปทิ้งท้ายว่า วัคซีนทั้ง 2 สูตรกระตุ้นแอนติบอดีได้ดีพอๆกัน แต่กระตุ้น T cell ไม่ค่อยดี และ ถึงแม้วัคซีนสูตร 2 จะมี mRNA ของ BA.5 spike อยู่ครึ่งนึง แต่ก็ไม่ได้ช่วยกระตุ้นแอนติบอดีต่อ BA.5 spike ได้อย่างมีนัยสำคัญ (พบแค่ 1.3 เท่าในการศึกษานี้)  ทีมวิจัยคิดว่า การที่ร่างกายได้รับวัคซีนสูตรเก่ากันมาหลายเข็ม ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนสูตรใหม่ไม่ค่อยดีอาจเป็นประเด็นที่ต้องมาพิจารณากันแบบจริงจัง