ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ระเบิดเวลาใกล้ตัว หลังคร่าชีวิต “จรัญ งามดี”

06 ต.ค. 2565 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2565 | 20:06 น.
637

รู้จัก โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ระเบิดเวลาใกล้ตัว แม้เป็นคนแข็งแรงแต่ก็มีความเสี่ยงได้ หลังจาก กรณีดังกล่าว เกิดขึ้นกับ นักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง บางระจัน “จรัญ งามดี” หรือ นายจันหนวดเขี้ยว ไปฟังคำแนะนำ และการสังเกตอาการ หรือพฤติกรรมเสียงของภัยสุขภาพใกล้ตัวกัน

ข่าวเศร้าวงการบันเทิง หลัง “จรัญ งามดี" หรือ นายจันหนวดเขี้ยว นักแสดงนำในภาพยนตร์เรื่อง บางระจัน อายุ 49 ปี ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหัน หลังจากนักแสดงดัง มีอาการวูบหมดสติในขณะที่กำลังทำสวน แม้ว่าทางญาติจะรีบช่วยเหลือนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่สามารถยื้อชีพจรกลับมาได้ และเสียชีวิตในที่สุด

 

เบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานว่า “จรัญ งามดี" หรือ นายจันหนวดเขี้ยว เสียชีวิตจากหัวใจวายเฉียบพลัน โดยภายหลังจากเสียชีวิตลงแล้ว ได้มีผู้เข้าไปแสดงความเสียใจในเฟซบุ๊กของ "จรัญ งามดี" เป็นจำนวนมาก 

 

อ่านข่าว : อาลัย "จรัญ งามดี"เสียชีวิตกะทันหัน ปิดตำนาน"นายจันหนวดเขี้ยว"

สำหรับกรณีของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งอาการร้าย ที่เป็นภัยสุขภาพใกล้ตัว โดยที่ผ่านมา นพ.วิจารณ์ เทวธารานันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ข้อมูลสำคัญของภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ไว้น่าสนใจ ดังนี้

 

โรคหัวใจ มักไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะเริ่ม กว่าจะรู้อาจจะสายเกินไป เมื่อเกิด ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน หรือ Heart Attack มักเป็นอย่างฉุกเฉิน ไม่รู้ตัวมาก่อน อาจเกิดในคนที่ดูปกติไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน

 

โดยเฉพาะเมื่อพบอาการผิดปกติไม่ควรละเลยเด็ดขาด เพราะทุกนาทีมีค่าต่อชีวิตสิ่งสำคัญที่สุดในการช่วยลดอัตราการเสียชีวิต คือ การวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว และได้รับการรักษาอย่างทันเวลา

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีภาวะดังนี้ 

  • ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
  • ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เพราะไขมันอุดตันในเส้นเลือด หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เพราะเส้นเลือดหัวใจมีการตีบที่รุนแรง หรืออุดตันอย่างเฉียบพลัน
  • ผู้มีภาวะเครียด กดดัน พักผ่อนน้อย ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการทำงานของหัวใจมีความผิดปกติ
  • มีภาวะอ้วนตั้งแต่เด็ก
  • สูบบุหรี่
  • นอนกรนรุนแรง มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย
  • ไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

ทั้งหมดนี้ คือสาเหตุสำคัญมาจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแข็งตัว หรือตีบตัน เมื่อเส้นเลือดตีบ ส่งผลให้เลือดไม่ไปเลี้ยงหัวใจในที่สุด 

 

ดังนั้น ควรตรวจสุขภาพหัวใจ อาทิ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) หรือ ตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน (EST) หรือ ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ควบคู่กับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 35 - 40 ปีขึ้นไป เมื่อพบว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรทำการรักษาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตนตามคำแนะนำแพทย์

 

อาการผิดปกติของโรคหัวใจ ควรหมั่นสังเกตตนเอง หรือคนรอบข้าง เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือน “หัวใจวายเฉียบพลัน” ดังนี้

  • แน่นหน้าอก นานกว่าครั้งก่อนๆ นานกว่า 20 นาที
  • เหงื่อออก ตัวเย็น
  • คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก
  • ปวดจุกท้อง บริเวณลิ้นปี่ หรือปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่โดยเฉพาะไหล่ซ้าย
  • หายใจหอบ หายใจไม่พอ หายใจสั้น

 

หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบนั่งพัก และนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะอาการเหล่านี้...เป็นส่วนหนึ่งของ “ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด”

 

ผลที่จะเกิดขึ้นกับภาวะ หัวใจวายเฉียบพลัน หรือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง จะมีความเสี่ยงเกิดอาการ ดังต่อไปนี้

  • หัวใจจะหยุดเต้น
  • สมองอาจขาดออกซิเจน
  • กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • หรือเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว 

 

สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีและทันเวลา “ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยได้” หากพบผู้หมดสติให้ควรปฏิบัติ ดังนี้

  • เรียกหรือเขย่าตัวผู้หมดสติว่ายังมีการตอบสนองหรือไม่
  • ถ้าไม่มีการตอบสนอง ให้สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการกระตุกหรือชักเกร็งหรือไม่ หรือหายใจเฮือก หรือหยุดหายใจ ถ้ามีให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันพลัน
  • รีบโทรศัพท์แจ้งขอความช่วยเหลือหน่วยกู้ชีพ หรือรถพยาบาลฉุกเฉิน
  • เริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจ หรือทำ CPR เพื่อพยุงเวลาในการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด ทำให้หัวใจบีบเลือดออกไปเลี้ยงร่างกาย

 

วิธีการช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 

  • การใช้ไฟฟ้าแรงสูงเข้าไปกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติด้วยเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ใช้ตามคำแนะนำที่ติดอยู่ที่เครื่อง