ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
โรคหัวใจถามหาคนชอบกินเนื้อ
เป็นที่สงสัยกันมานานแล้วว่าทำไมคนชอบบริโภคเนื้อแดง สเต็ก เนื้อบด เบอร์เกอร์แทนที่จะกินปลา ผัก
กลับตายหรือต้องบอลลูนใส่ขดลวดถ่างเส้นเลือดหัวใจกันเต็มไปหมด ทั้งๆที่ ปริมาณไขมัน โคเลสเตอรอลและไขมันอิ่มตัวในเนื้อก็ไม่ได้สูงมากนัก
รายงานในวารสารชั้นนำ เนเจอร์ (Nature Medicine) 7 เมษายน 2556 โดย Koeth และคณะจากคลิฟแลนด์คลินิค สหรัฐฯพบว่า การกินเนื้อซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอล-คาร์นิทีน (L-carnitine) จะถูกเปลี่ยนโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ให้กลายเป็น trimethylamine-N-oxide (TMAO)
โดยที่ TMAO จะเป็นตัวเร่งให้เกิดเส้นเลือดตัน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่คาร์นิทีนอย่างเดียว การกินโคลีน (choline) และ เลซิติน (lecithin หรือ phosphatidylcholine) มากไปจากอาหารเสริมโดยคิดว่าช่วยอัลไซเมอร์ ก็จะถูกย่อยให้เกิด trimethylamine (TMA)
และในที่สุดก็จะกลายเป็น TMAO ตามมา (Wang และคณะ วารสาร Nature 2554) ชึ่งได้รับการพิสูจน์ล่าสุด โดย Tang และคณะ (วารสารนิวอิงแลนด์เจอนัล 25 เมษายน 2556) ว่าสัมพันธ์กับเส้นเลือดตันในหัวใจเช่นกัน
ทั้งนี้ แอล-คาร์นิทีน เป็นสารประกอบแอมโมเนียม (quaternary ammonium) ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ของกรดอะมิโนไลซีน (lysine) และเมไธโอนีน (methionine) แอล-คาร์นิทีน มีบทบาทในการเคลื่อนกรดไขมัน จากการย่อยสลายไขมันภายในเซลล์เข้าสู่ตัวไมโทคอนเดรียเพื่อสร้างเป็นพลังงาน
ในส่วนของการใช้ แอล-คาร์นิทีนเพื่อลดน้ำหนักยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน (สืบค้นวิกิพีเดีย 10 เมษายน 2556) แต่มีรายงานว่าอาจช่วยผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบให้มีอาการน้อยลงบ้าง และอาจช่วยคนเป็นหมันโดยเพิ่มคุณภาพของสเปิร์ม
แอล-คาร์นิทีน มีมากในเนื้อวัว (95 มก./100 กรัม) เนื้อบด (94 มก./100 กรัม) เนื้อหมู (27.7 มก./100 กรัม) เบคอน (23.3 มก./100 กรัม)
ในขณะที่ปลา ไก่ ไอศกรีม และนมจะมีปริมาณต่ำกว่ามาก (3-5 มก./100 กรัม) พืช ผัก ไข่ ผลไม้ น้ำส้ม จะมีขนาดต่ำกว่า 0.2 มก./100 กรัม
ในการบริโภคอาหารประจำวันจะได้ แอล-คาร์นิทีน ในขนาด 20-200 มก. แต่ในคนที่กินมังสวิรัติจะเหลือเพียง 1 มก./วัน นอกจากที่คนชอบกินผักจะได้ แอล-คาร์นิทีนน้อยกว่าแล้ว ยังพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนชอบกินผักจะเป็นชนิดที่ไม่เปลี่ยนแอล-คาร์นิทีนเป็นสารพิษ TMAO
สำหรับเลซิตินนั้นคนเราได้ประจำอยู่แล้วจากไข่แดง นม ตับ ปลา ไก่ ถั่วต่างๆ และจากการตรวจผู้ป่วย 2595 คนที่ได้รับการประเมินสภาพทางหัวใจ พบว่าคนที่มีระดับแอล-คาร์นิทีนร่วมกับ TMAO สูงจะมีความเสี่ยงสูงของการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบตัน อัมพฤกษ์ และเสียชีวิต
เช่นเดียวกับผู้ป่วย 4007 คนจากการศึกษาในเรื่องของเลซิตินก็ได้ผลว่ามีเส้นเลือดตีบตันสูงเช่นกัน และยืนยันจากการทดลองในหนูโดยให้แอล-คาร์นิทีนไปนานๆจะ เกิดเส้นเลือดตีบมากขึ้น
ทั้งนี้อธิบายจากการที่จุลินทรีย์ในลำไส้เปลี่ยนแอล-คาร์นิทีน เลซิติน ไปจนทำให้เกิดการสร้าง TMA และ TMAO สูงขึ้น
เพราะฉะนั้นการกินอาหารครบหมู่คละกันไปโดยเน้นผัก ผลไม้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มด้วยอาหารเสริมซึ่งแม้ว่าจะเลือกสารที่ว่าเป็นประโยชน์ต่อเซลล์ ร่างกาย และเนื้อเยื่อ ดังเช่นแอล-คาร์นิทีน เลซิติน แต่ถ้ามากเกินไปจะเกิดการปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้และเปลี่ยนกลับเป็นของเสียซึ่งมีพิษ และทำให้ที่ว่าดีกลายเป็นร้ายไปเสียอีก
ทั้งนี้ ปริมาณแอล-คาร์นิทีน ในอาหารเสริม 1 เม็ดอาจมีปริมาณมากกว่า 500-800 มก. (เลซิตินอาจมากกว่า 1000 มก.) และสุดท้ายความเชื่อทางศาสนา และเคร่งครัดในการละการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต บริโภคมังสวิรัติแต่โบราณกาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง