11 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังช่วง 2-8 ก.ค. 65 จำนวน 570 ตัวอย่าง พบเป็น BA.1 จำนวน 5 ราย BA.2 จำนวน 283 ราย และ BA.4 และ BA.5 รวมกัน 280 ราย โดยกลุ่มเดินทางจากต่างประเทศ เจอสัดส่วน BA.4/BA.5 สูงทรงตัว 77-78% หรือ 3 ใน 4 ราว 3 สัปดาห์ติดต่อกัน
ส่วนในไทยแยกเป็น กทม.และภูมิภาค เนื่องจากหากนำมารวมกันจะมีการแกว่งของสัดส่วน โดย 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.พบ BA.4/BA.5 เพิ่มเรื่อยๆ จาก 12% เป็น 50% 68% และ 72%
ส่วนภูมิภาคค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 17% และ 34% ขณะนี้ถือว่า BA.4 -BA.5 คงเป็นสายพันธุ์ที่จะเริ่มแซง BA.2 กับ BA.1 แต่ก็ไม่ได้แซงเร็วมาก โดยมีการพบ BA.4-BA.5 ทั้ง 13 เขต ยกเว้นเขต 3 ที่ยังไม่เจอ แต่เนื่องจากตัวอย่างส่งตรวจไม่เยอะประมาณ 10 ตัวอย่าง ก็จะกระตุ้นให้ส่งตรวจมากขึ้น ทั้งนี้ กทม.พบสัดส่วนมากที่สุด 72%
ส่วนเรื่องความรุนแรงนั้น กทม.พบว่า คนที่อาการไม่รุนแรงพบ 164 ตัวอย่าง มีสัดส่วนเป็น BA.4-BA.5 ประมาณ 72% ส่วนกลุ่มที่อาการรุนแรง ปอดอักเสบมากจนแอดมิต ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมี 13 ราย ตรวจ BA.4-BA.5 รวม 10 ตัวอย่าง คิดเป็น 77% ถือว่าสัดส่วนมากกว่า ส่วนภูมิภาค ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง 309 ตัวอย่าง เจอ BA.4-BA.5 รวม 33% สัดส่วนยังไม่เยอะเท่า กทม.
ส่วนกลุ่มอาการรุนแรง 45 ตัวอย่าง เจอ BA.4-BA.5 สัดส่วน 46% คือ พบในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมากกว่าคนไม่รุนแรง เบื้องต้นสังเกตว่า BA.4-BA.5 น่าจะมีความรุนแรงกว่า BA.2 อยู่บ้าง แต่ข้อมูลยังไม่มากพอ
ส่วนข้อมูลระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ติดตามพบว่า BA.5 สัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 37% เป็น 52% ส่วน BA.4 จาก 11% เป็น 12% อาจจะแพร่เร็วไม่เท่า BA.5 ส่วน BA.2.12.1 ลดลงเรื่อยๆ ถูกเบียดไปจาก 19% เหลือ 11% ส่วนแพร่เร็ว รุนแรง และหลบภูมิหรือไม่
สำหรับเรื่องความรุนแรง WHO ยังไม่ให้น้ำหนักมาก บอกว่าไม่ได้รุนแรงแตกต่างกันมากนักจากการเก็บข้อมูลหลายประเทศ แสดงว่า ความรุนแรงข้อมูลยังไม่เบ็ดเสร็จ แต่เร็วกว่าแน่นอน
ส่วนภูมิต้านทานที่เคยจัดการ BA.1/BA.2 ได้ก็สู้ BA.4/BA.5 ลดลง เช่นเดียวกับอังกฤษก็ค่อนข้างสรุปว่า BA.5 แพร่เร็วมากขึ้นกว่าเดิมอยู่ในระดับเชื่อมั่นสูง ส่วนหลบภูมิคุ้มกันคิดว่าหลบได้ แต่ความเชื่อมั่นกลางๆ ขณะที่ความรุนแรงของโรคอยู่ระดับสีเหลือง แต่ความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำๆ เพราะข้อมูลน้อยเกินไป
ขณะที่งานวิจัยของญี่ปุ่นในห้องทดลอง พบว่า การกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามของ BA.4/BA.5 มีผลต่อการเพิ่มจำนวนไวรัส ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน ใครติด BA.1/BA.2 ก็ติดซ้ำได้ หลายคนติด BA.1 มาสักเดือนนึงก็ติด BA.4/BA.5 ได้ เมื่อทดลองกับเซลล์ปอดมนุษย์ในห้องทดลอง พบว่ากระจายในเซลล์ปอดได้ดีกว่า และหนูแฮมสเตอร์มีอาการหนักกว่า BA.2 นพ.ศุภกิจกล่าว
สรุปข้อมูลที่มีจนถึงตอนนี้ เห็นชัดว่า BA.4/BA.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในบ้านเรา แต่ชุกชุมในเขต กทม. ส่วนภูมิภาค 30-40% แต่เป็นธรรมชาติที่จะพบใน กทม.ก่อนขยายไปภูมิภาค
ทั้งนี้ จะขอให้ทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดต่างๆ ส่งตัวอย่างผู้ป่วยอาการปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตมาตรวจเพิ่ม ซึ่งความรุนแรงนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน หากมีตัวอย่างขึ้นเป็นระดับหลักร้อยก็น่าจะทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงจะให้ส่งข้อมูลของตัวอย่างมาด้วย เช่น รักษามานานเท่าไร ประวัติการรับวัคซีน มีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้มากขึ้น
รวมถึงขอให้เน้นมาตรการส่วนบุคคล ใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง อย่าไปทำกิจกรรมเสี่ยง หากไม่อยากให้เตียงเต็มเร็วเกินเพราะหากแพร่เร็วขึ้นและแรงขึ้นจริง ก็จะคูณให้ผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้นในอนาคต จึงต้องช่วยกันหยุดแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงฉีดเข็มกระตุ้นตามแนะนำ จะป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต โดยสัปดาห์หน้าจะเอาข้อมูลผลการนำภูมิคุ้มกันจากสูตรวัคซีนต่างๆ มาทดลองกับ BA.5 ว่าสู้ได้มากน้อยแค่ไหน