"สมศักดิ์" หารือ WHO ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเมียนมารับมือโรคระบาด 

12 ก.พ. 2568 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.พ. 2568 | 12:04 น.

"สมศักดิ์" นำทีมหารือผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย เผย M-Fund เล็งขยายทำประกันสุขภาพให้ผู้อพยพแต่ขาดหน่วยงานรับผิดชอบด้านค่าธรรมเนียม พร้อมรับมือโรคระบาดตามแนวชายแดนไทย -เมียนมา ยินดีเดินหน้ายกระดับคนไทยห่างไกล NCDs ให้บรรลุแผนระดับโลก

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการนำผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขเข้าหารือร่วมกับ นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้ 1. ผลกระทบด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนไทย - เมียนมาจากการหยุดให้บริการของโรงพยาบาลในศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้หนีภัยการสู้รบเมียนมาหลังจากสหรัฐอเมริการะงับงบประมาณสนับสนุนให้แก่องค์กร International Rescue Committee (IRC) เป็นเวลา 3 เดือนส่งผลให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 

ทั้งนี้ ดูแลศูนย์พักพิงชั่วคราวฯ จำนวน 7 แห่งใน 4 จังหวัด ได้แก่

1. จังหวัดราชบุรี : บ้านถ้ำหิน อ.สวนผึ้ง

2. จังหวัดกาญจนบุรี: บ้านต้นยาง อ.สังขละบุรี

3. จังหวัดตาก : บ้านนุโพ อ.อุ้มผาง, บ้านอุ้มเปี้ยม อ.พบพระ และบ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง 

4. จังหวัดแม่ฮ่องสอน: บ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม และบ้านใหม่ในสอย อ.เมือง

เบื้องต้นได้ชี้แจงผลการหารือร่วมกับ Ms.Saima Wazed ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ประเทศไทยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์พักพิงฯ จำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดย Ms. Saima ขอรับไปหารือกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกต่อไป

"ทาง WHO แสดงความกังวลถึงการจัดการด้านสาธารณสุขในระยะกลางและระยะยาวโดยเฉพาะด้านสุขาภิบาลและการแพร่ระบาดของโรคจากการเข้ามาของผู้อพยพซึ่ง นพ.จอส ระบุว่า ได้หารือกับผู้แทนของ M-Fund องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รับเงินสนับสนุนจากฝรั่งเศสในการซื้อประกันสุขภาพให้แก่ประชากรต่างด้าวเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

\"สมศักดิ์\" หารือ WHO ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเมียนมารับมือโรคระบาด 

ทั้งนี้ M-Fund มีแนวคิดที่จะขยายประกันสุขภาพให้กับผู้อพยพแต่ยังไม่มีคำตอบว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพ

โดย WHO ยินดีทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ และเตรียมพร้อมรับมือกรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคตามแนวชายแดนไทย ซึ่งตนได้มอบให้ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานการดำเนินงานกับผู้แทน WHO ประจำประเทศไทยในเรื่องนี้" นายสมศักดิ์กล่าว

อีกเรื่อง คือ การดำเนินงานด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรค NCDs ทำให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมากและเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนไทย นโยบาย "คนไทยห่างไกล NCDs" 

เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ลดการบริโภคคาร์บ ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน อสม. กว่า 1,080,000 คนทั่วประเทศ ในการสื่อสารกับชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจและปรับพฤติกรรมการกินแบบนับคาร์บ โดยใช้ "ทัพพี" เป็นสื่อในการสื่อสารคำนวณปริมาณคาร์บที่ควรบริโภคต่อวัน ซึ่งควรบริโภคไม่เกินร้อยละ 20 ของพลังงานที่ใช้ต่อวัน

\"สมศักดิ์\" หารือ WHO ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเมียนมารับมือโรคระบาด 

คาดว่า จะสามารถรณรงค์นโยบายดังกล่าวให้ประชาชนมีความเข้าใจได้มากถึง 50 ล้านคนภายในปีนี้ ล่าสุด อสม.ได้ให้ความรู้กับประชาชนไปแล้ว 12 ล้านคน

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยินดีทำงานร่วมกับ WHO เพื่อยกระดับการดำเนินงานด้านโรค NCDs ให้บรรลุเป้าหมายแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลก ภายในปี 2573 ซึ่ง นพ.จอสได้ชื่นชมนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างมาก และยินดีสนับสนุนการดำเนินงานซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันโรค NCDs