thansettakij
เจาะลึกหาข้อเท็จจริง : ราคาน้ำมันประเทศไทยแพง จริงหรือ?
environment

เจาะลึกหาข้อเท็จจริง : ราคาน้ำมันประเทศไทยแพง จริงหรือ?

    ระบบการค้านํ้ามันในประเทศไทยเป็นระบบการค้าเสรีมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2534 ผู้ค้านํ้ามันสามารถกำหนดราคาขายปลีกได้ด้วยตนเอง โดยอิงราคานํ้ามันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายนํ้ามันที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

บทความโดย วีระพล จิรประดิษฐกุล นักวิชาการด้านพลังงาน

มีหน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลทางด้านราคานํ้ามัน คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ราคาที่สนพ.ประกาศนั้นไม่ใช่เป็นราคาที่ซื้อขายจริง แต่เป็นราคาที่ใช้อ้างอิงในการกับดูแล ราคาที่ผู้ค้าซื้อขายจริงขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานตลาดในช่วงนั้นๆ ซึ่งอิงกับราคาในตลาดสิงคโปร์

 

ทั้งนี้ ภาครัฐมีส่วนในการกำกับดูแลราคานํ้ามัน โดยอาศัยกลไกของภาษีและกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพของระดับราคาขายปลีกนํ้ามันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้ผันผวนมากเกินไป

 

อ้างอิงราคา CIF ตลาดสิงคโปร์( Import Parity Price)

ในอดีต ประเทศไทยมีโรงกลั่นแต่กำลังการผลิตไม่เพียงพอ จึงต้องนำเข้าจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นราคานำเข้า CIF ที่รวมค่าขนส่งและค่าประกันนํ้ามันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาที่ศรีราชา ภายใต้แนวคิดของการแข่งขัน นํ้ามันสำเร็จรูปที่กลั่นในประเทศต้องแข่งขันกับนํ้ามันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ ถ้าโรงกลั่นไทยตั้งราคาสูงกว่าราคาอ้างอิงสิงคโปร์ จะไม่มีใครซื้อนํ้ามันจากโรงกลั่นในประเทศ ในทางตรงกันข้ามถ้าโรงกลั่นไทยตั้งราคาตํ่ากว่าที่สิงคโปร์ โรงกลั่นจะส่งออกนํ้ามันไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากได้ราคาที่สูงกว่า หรือผู้ค้านํ้ามันก็จะซื้อนํ้ามันจากโรงกลั่นไทยไปขายต่อในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหานํ้ามันขาดแคลนในประเทศได้

การอ้างอิงราคา CIF ที่ตลาดสิงคโปร์ ( Import Parity Price) จึงเป็นกลไกสำคัญที่อำนวยให้มีการแข่งขันในตลาดนํ้ามันสำเร็จรูป ทำให้โรงกลั่นในประเทศต้องพัฒนาประสิทธิภาพการกลั่นให้ทัดเทียมกับโรงกลั่นที่สิงคโปร์ นอกจากราคา CIF ที่รวมค่าขนส่งและประกันจากสิงคโปร์มายังศรีราชาแล้ว ประเทศไทยยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันสำเร็จรูป เนื่องจากไทยใช้นํ้ามันสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสูงกว่านํ้ามันที่กลั่นที่สิงคโปร์ เช่น ใช้นํ้ามันคุณภาพสูง ยูโร 5 นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีต้นทุนในการสำรองทั้งนํ้ามันดิบและนํ้ามันสำเร็จรูป ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มีต้นทุนดังกล่าว

 

เจาะลึกหาข้อเท็จจริง : ราคาน้ำมันประเทศไทยแพง จริงหรือ?

 

โครงสร้างราคาขายปลีกนํ้ามัน

สำหรับราคาขายปลีกในไทย จะประกอบไปด้วย 1.ต้นทุนเนื้อนํ้ามัน (แก๊สโซฮอล์สัดส่วน 55% และดีเซลสัดส่วน 63%) ซึ่งเป็นต้ทุน จากการผลิตและการแปรรูปนํ้ามันดิบให้เป็นนํ้ามันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ซึ่งประกอบด้วย ราคานํ้ามันดิบ (Crude Oil Price) เป็นราคาเปลี่ยนแปลงไปตามราคานํ้ามันในตลาดโลก ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตนํ้ามันสำเร็จรูปในประเทศไทย เป็นส่วนที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ

เช่น อุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก สถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนค่าการกลั่น (Refining Margin) เป็นค่าใช้จ่ายในการแปรรูปนํ้ามันดิบให้เป็นนํ้ามันสำเร็จรูป ได้แก่นํ้ามันเบนซิน ดีเซล นํ้ามันเครื่องบิน ก๊าด และนํ้ามันเตา ค่าใช้จ่ายนี้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของโรงกลั่นนํ้ามัน

 

 

 2. ภาษี (แก๊สโซฮอล์ 95 สัดส่วน 26% และดีเซลสัดส่วน 27%) ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต (Excise Tax) จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ ภาษีเทศบาล (Municipal Tax) ภาษีที่จัดเก็บโดยท้องถิ่น ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศในระดับท้องถิ่น และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จัดเก็บสองครั้ง ในอัตรา 7% ของราคาขายส่งนํ้ามันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดนํ้ามันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

 3.กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (นํ้ามันดีเซลสัดส่วน 4% และแก๊สโซฮอล์ 95 สัดส่วน 9% ) ซึ่งเป็นเงินที่เรียกเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคานํ้ามันภายในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวนและเก็บเพื่อเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เงินที่เรียกเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

4. ค่าการตลาด (แก๊สโซฮอล์ 95 สัดส่วน 10% และดีเซล สัดส่วน 6% ) ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ผู้ค้าตามมาตรา 7 ได้รับ ยังไม่ใช่กำไรสุทธิ เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งของบริษัทผู้ค้าและเจ้าของสถานีบริการนํ้ามัน เช่น ค่าที่ดิน ค่าขนส่ง ค่าจ้างพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าบริหารจัดการต่าง ๆ ภายในสถานี ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายและการตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งหลังจากหักค่าใช้จ่ายเหล่านี้แล้ว ถึงจะเป็นกำไรสุทธิของผู้ค้าที่จะได้รับ

 

ทำไมราคานํ้ามันในไทยไม่เหมือนประเทศอื่น

ทั้งนี้ โครงสร้างของราคานํ้ามันของแต่ละประเทศ มีองค์ประกอบของที่คล้ายกัน แต่สัดส่วนของแต่ละองค์ประกอบในแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิตและการนำเข้า โครงสร้างภาษีและกองทุนของแต่รัฐบาล เช่น รัฐบาลของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณการส่งออก

นํ้ามันดิบสุทธิ ทำให้มาเลเซียมีต้นทุนของเนื้อนํ้ามันที่ตํ่า และในอดีตรัฐบาลยังมีนโนบายอุดหนุนราคานํ้ามันอีกด้วย ทำให้ราคานํ้ามันในประเทศมาเลเซียถูกกว่าไทย

ปัจจุบันประเทศมาเลเซียได้ประกาศยกเลิกการอุดหนุนราคานํ้ามันดีเซลแล้ว ส่งผลให้ราคานํ้ามันดีเซลในมาเลเซียปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 9 บาทต่อลิตร แต่สาเหตุที่ราคายังคงถูกกว่าประเทศไทย เพราะโครงสร้างราคา ภาษี และกองทุน แตกต่างกัน ส่วนราคาของประเทศเมียนมาร สปป. ลาว และกัมพูชา พิลิปปินส์ แพงกว่าประเทศไทย สำหรับราคานํ้ามันของ อินโดนีเซีย เวีนตนาม บรูไน ถูกกว่าราคาของไทย

 

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,088 วันที่ 17 - 19 เมษายน พ.ศ. 2568