นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวถึงกรณีรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่หยุดสนับสนุนงบประมาณโครงการด้านการดูแลสุขภาพและการคุ้มครองในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ชายแดนไทย-เมียนมา ผ่านองค์กร International Rescue Committee (IRC) เป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่อทบทวนนโยบายต่างประเทศนั้น
ยอมรับว่า กรณีดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบจริงแต่ค่ายผู้ลี้ภัยยังดูแลตัวเองในภาพรวมต่อไปได้เหมือนเดิม การดำเนินการสนับสนุนด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ดำเนินการโดยหน่วยงานสาธารณสุขชายแดนทั้ง 5 อำเภอชายแดน หลักการคือให้ค่ายผู้ลี้ภัยดำเนินการเองได้เหมือนเดิม เนื่องจากค่ายฯ ยังมีบุคลากรบางส่วนดำเนินการอยู่
กระทรวงสาธารณสุขเป็นเพียงที่ปรึกษาร่วม ส่วนการควบคุมโรคเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ยังคงทำเหมือนเดิม ทั้งนี้ได้มีการเตรียมการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยาว โดยระยะสั้นกระทรวงสาธารณสุขจะให้คำแนะนำ ให้ค่ายฯ มีระบบบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขดูแลตัวเองในค่ายฯ ได้เอง ระยะยาวจะช่วยประสานหน่วยงานหรือเอ็นจีโอเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ รวมถึงแหล่งทุนต่อไป
นพ.สุภโชค กล่าวว่า ที่ผ่านมา การจัดการในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จะควบคุม กำกับดูแลโดยฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอต่าง ๆ
ส่วนองค์กร IRC เป็นองค์กรของ สหรัฐฯ มาดูแลตรงนี้ ซึ่งมีบททางทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการจัดบริการรักษาผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การคลอด การจัดบริการรับส่งต่อและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาในกรณีส่งต่อและบริการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่พักพิงชั่วคราว
สำหรับกระทรวงสาธารณสุข ดูแลแค่เรื่องสุขาภิบาล ควบคุมโรคระบาดไม่ให้มาเผยแพร่สู่คนไทย ไม่ให้ระบาดออกจากค่ายผู้ลี้ภัย รวมถึงดูเคสฉุกเฉินหนัก แต่ไม่ได้ส่งทีมแพทย์เข้าไปรักษาดูแลในค่าย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ IRC ยุติการให้ความช่วยเหลือ อาจมีผลกระทบต่อด้านการสาธารณสุข ในประเด็นการจัดการสุขาภิบาล น้ำดื่ม น้ำใช้ การเติมคลอรีนให้ได้ระดับเพื่อการป้องกันโรค โดยเฉพาะอหิวาตกโรค การจัดการขยะและจัดการแมลงพาหะนำโรคต่าง ๆ
กระทบด้านการแพทย์ ในประเด็นการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะโรคติดเชื้อวัณโรคและโรคเอดส์ ที่ต้องกินยาต่อเนื่อง การรักษาฉุกเฉินและระบบส่งต่อ การดูแลรักษาแม่และเด็ก วัคซีนพื้นฐานและการคลอดที่ปลอดภัย รวมถึงการจัดบริการรักษาทั่วไป โรคเรื้อรั้งหรือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งต้องจับตาดูสถานการณ์ต่อไปและเตรียมแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้นระยาวตามที่กล่าวไปแล้ว
"ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงฯ ท่านได้ให้ความสำคัญและห่วงใยในประเด็นนี้มาก โดยกำชับและมอบหมายให้ผมติดตามรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อไม่มีผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยและการทำงานของบุคลาการทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ถือว่า สถานการณ์ทุกอย่างสามารถรับมือได้ ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขจะทำงานอย่างเต็มที่" นพ.สุภโชคกล่าว