การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Medical & Wellness Hub หนึ่งในหมุดหมายสำคัญ คือ กระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้เกิดการใช้สมุนไพรไทยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย รวมถึงการยกระดับการนวดไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับทั้งจากภายในและนอกประเทศ พร้อมต่อยอดความสำเร็จหลังจากที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "นวดไทย" และรับรอง "ต้มยำกุ้ง" เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
"ฐานเศรษฐกิจ" มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ "นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน" อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก คีย์แมนสำคัญในการขับเคลื่อนแผนดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ก้าวไปถึงจุดหมายที่วางไว้
"นพ.สมฤกษ์" อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เล่าให้ฟังว่า กรมฯได้รับนโยบายจากรัฐบาลและจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เน้นเรื่องของการใช้สมุนไพรไทยให้มากขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปต์ "เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ"
อีกเรื่อง คือ การยกระดับการนวดไทยให้มีมาตรฐานควบคู่ไปกับการมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นสองเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้กรมฯดำเนินการ
"สำหรับเรื่องของการใช้สมุนไพรไทยนั้น ท่านได้กรุณาจัดสรรงบประมาณร่วมกับ สปสช.ให้มีงบประมาณปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กว่า 900 ล้านบาท เป็น 1,500 ล้านบาทเพื่อใช้ในเรื่องของการแพทย์แผนไทยซึ่งในจำนวน 900 ล้านบาทนี้ทำเกี่ยวกับการนวดประมาณ 600 ล้านบาท และเป็นเรื่องของการใช้ยาสมุนไพร ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ท่านรมว.เพิ่มให้อีก 500 ล้านเป็น 1,000 ล้านบาท เพิ่มให้เฉพาะในส่วนของการใช้ยาสมุนไพร
ท่านรัฐมนตรีฯ เน้นย้ำว่า หากมีการเพิ่มการใช้ยาส่วนนี้ได้มาก ปีถัดไปก็จะเตรียมงบประมาณให้อีก 1,500 ล้าน เป็น 3,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่มาก งบประมาณตรงนี้เองที่จะส่งผลกระทบทำให้เกิดการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น"
ทั้งนี้ จากข้อมูลในระบบการรักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในส่วนของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยมีมูลค่ายาทั้งหมดที่ใช้อยู่ในระบบอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท เป็นการใช้ยาสมุนไพรอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2 % เท่านั้นซึ่งหลังจากที่นายสมศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้าน ปีต่อไปเป็น 3,000 ล้านบาทจะช่วยเพิ่มการใช้สมุนไพรได้ประมาณ 6-7%
ล่าสุด ทางกรมฯได้ปรับกระบวนการดำเนินงานชวนให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ส่วนใหญ่ระบบประกันสุขภาพขึ้นอยู่กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หันมาใช้สมุนไพรในการรักษาโรคที่พบได้บ่อย หรือ โรคเจ็บป่วยเล็กน้อยให้กับประชาชน เช่น โรคไข้หวัด, โรคภูมิแพ้, โรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องผูก และโรคกระเพาะ, โรคผิวหนัง เช่น โรคผื่นแพ้ และโรคเริม
รวมถึงเรื่องของโรคริดสีดวงทวาร ปวดกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ซึ่งโรคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นโรคที่เจอกันบ่อย ๆ เราพบว่า ยาแผนไทยสามารถที่จะให้ผลการรักษาที่ดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน โดย 3 ส่วนสำคัญที่กรมฯดำเนินการไปพร้อม ๆ กันเพื่อขับเคลื่อนการใช้ยาสมุนไพร ได้แก่
1. ผู้ให้บริการ : โดยจะให้ความรู้กับแพทย์แผนปัจจุบัน พยาบาล เภสัชกรแผนปัจจุบันซึ่งอยู่ในโรงพยาบาลทุกระดับตั้งแต่โรงพยาบาลจังหวัดไปถึงโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก และ รพ.สต.มีแผนที่จะให้ความรู้ต่าง ๆ เรื่องของยาสมุนไพรที่มีผลในการรักษา
รวมถึงการปรับระบบการให้บริการของโรงพยาบาลในการรักษาผู้ป่วยนอกให้มีห้องตรวจแพทย์แผนไทย ให้มีระบบไอทีในการช่วยค้นหายาแผนไทยในแต่ละโรคได้ง่ายขึ้นซึ่งจะทำให้การสั่งยาหรือการรักษามีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
2. ประชาชน : ทางกรมฯมีแผนที่จะสร้างองค์ความรู้ผ่านสื่อโฆษณาต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ คือ โครงการ "10 โรคกับ 10 สมุนไพร" ในการรักษาเพื่อให้จดจำได้ง่าย
3.ในแง่ของตัวยาจะมีการเพิ่มการเก็บข้อมูลทั้งเรื่องของการวิจัยในการใช้สมุนไพรในการรักษาและผลการวิจัยในห้องทดลองเพื่อทำให้เกิดความกระจ่างและสร้างความมั่นใจในยาและวิธีการรักษาให้กับประชาชนมากขึ้น
ในส่วนของจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ในการใช้สมุนไพรไทย "นพ.สมฤกษ์" กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีไม่มากนักราว 3,000 - 4,000 คน และแพทย์แผนไทยซึ่งเป็นแพทย์พื้นบ้านที่กระจายอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ อีกประมาณ 2 – 3 หมื่นคน
ส่วนการนวดแผนไทย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การนวดผ่อนคลาย ที่ให้บริการตามร้านต่าง ๆ ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.5 – 2 แสนคน และ 2.การนวดเพื่อการรักษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย บุคลากรกลุ่มนี้จะผ่านการอบรมประมาณ 300-800 ชั่วโมง และ 2.แพทย์แผนไทยที่ต้องเรียนจบหลักสูตร 4 ปี
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่าง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ กรมการแพทย์แผนไทยฯ และดึงเอกชนที่ให้บริการด้านการนวดต่าง ๆ เข้ามาร่วมประชุมกันเพื่อจัดหลักสูตรขึ้น สำหรับการสอนการนวดผ่อนคลายที่รู้จักในปัจจุบันเป็นหลักสูตร 150 ชั่วโมง มีทั้งภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรมการแพทย์แผนไทยฯ เป็นแหล่งสอน
จากข้อมูล พบว่า นวดไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติจำนวนมากทั้งจากเยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ รวมถึงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนในปัจจุบันและที่กำลังมาแรง คือ ทางแถบตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย โดยล่าสุดกรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้พัฒนาหลักสูตรอบรมการนวด 150 ชั่วโมงและหลักสูตรนวด 60 ชั่วโมงซึ่งเป็นการนวดฝ่าเท้าเพื่อส่งไปให้บริการที่ตะวันออกกลาง เตรียมจัดกิจกรรมคิกออฟส่งออกนวดแผนไทยกลุ่มแรกไปตะวันออกกลางในวันที่ 19 กุมภาพันธ์นี้
นอกจากนี้ กรมฯ ยังยกระดับมาตรฐานสมุนไพรไทยผ่านช่องทาง "ตลาดกลางสมุนไพรไทย" โดยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมตลาดกลางสมุนไพรไทยเพื่อส่งเสริมการซื้อขาย พัฒนาวัตถุดิบสมุนไพรให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยตลาดไทได้จัดสรรพื้นที่ประมาณ 4,000 ตร.ม. สำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายสมุนไพรไทย
"หากมองเฉพาะสมุนไพรที่ใช้กันในตลาดการรักษา จากการสอบถามเบื้องต้น พบว่า ยังมีไม่มากนัก หรือ ยังไม่ถึง 1 % ของวอลลุ่มสมุนไพรที่ใช้กัน ส่วนใหญ่ที่พบเป็นสมุนไพรเกี่ยวกับอาหาร"
อย่างไรก็ดี ตลาดไทเตรียมนำ "ขมิ้นชัน" ซึ่งเป็นหนึ่งในสมุนไพรไทยที่คณะกรรมการสมุนไพรแห่งชาติ ยกให้เป็น "Herb of the Year" เพื่อขับเคลื่อนแผนการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยตั้งเป้าจาก 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 1 แสนล้านต่อปีภายในปี 2570
มาเป็นสมุนไพรนำร่องเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับ ตลาดกลางสมุนไพรไทย แห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ออกไปในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้านี้เพื่อให้เกษตรกรและผู้ที่ต้องการนำขมิ้นชันไปใช้ทุกรูปแบบ ทุกสายพันธุ์ สามารถมาหาที่นี่ได้
รวมถึงการนำสมุนไพรที่ต้องการจะกระตุ้นให้ใช้ในการรักษา หรือยาที่ใช้สมุนไพรในปริมาณที่มากมาทำให้เกิดการซื้อขายที่ตลาดแห่งนี้ด้วย
อีกประเภท คือ สมุนไพรที่มีปัญหาในการนำเข้า หรือ มีการปลูกกันน้อย ก็จะนำมาทำให้เกิดการซื้อขายที่ตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าทะลายโจร ที่ช่วงหนึ่งมีการรณรงค์ให้ใช้กันมากทำให้ขาดตลาดจนต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ
"ข้อมูลลักษณะนี้จะถูกส่งต่อไปยังเกษตรกรเพื่อให้ทราบถึงความต้องการที่มีอยู่เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เกษตรกรสามารถปลูกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่มีความต้องการได้เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ เกษตรกรไม่ทราบว่า ตลาดมีความต้องการสมุนไพรชนิดนั้นเท่าไร ปลูกมาแล้วจะขายให้ใครทำให้ไม่มีแผนที่จะปลูกสมุนไพรเหล่านี้
ดังนั้น ทางกรมฯ จึงต้องนำความต้องการทั้งสองด้านนี้มาเจอกัน เป็นผู้เชื่อมข้อมูลจากต้นน้ำและกลางน้ำร่วมกับกระทรวงเกษตรฯและตลาดไทเพื่อทำให้เกิดตลาดกลางสมุนไพรไทยขึ้นซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนากันต่อไปแต่เชื่อว่าเมื่อเกิดการแมชชิ่งกันได้แล้วการขับเคลื่อนเรื่องสมุนไพรจะทำได้ง่ายขึ้น" นพ.สมฤกษ์ กล่าวทิ้งท้าย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,069 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568