31 มกราคม 2568 นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่มาตรฐานฮาลาล (Halal) ว่า ตามนโยบายขับเคลื่อนของกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้นโยบายข้อที่ 6 การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub
โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความปลอดภัยทุกมิติ ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทย และสมุนไพรทางการแพทย์ เพิ่มโอกาสการเติบโตของอุตสาหกรรมสมุนไพร และ การนวดไทย เพื่อธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ
ล่าสุด กรมการแพทย์แผนไทยฯเดินหน้าขับเคลื่อนผลักดันการนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร สู่ตลาดประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อสร้างโอกาสการเติบโต ทางเศรษฐกิจในระดับสากลจึงได้ส่งเสริมให้การนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีมาตรฐานฮาลาล เพื่อให้สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมของชาวมุสลิม
ขณะนี้ทางกรมฯ ได้ดำเนินการ อบรมบุคลากรด้านการนวดไทย อบรมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์สมุนไพร สู่ประเทศซาอุดิอาระเบีย รวมถึงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ในโครงการดังกล่าว พร้อมทั้งเตรียมนำนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเปิดตัวในช่วงพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ผลที่คาดว่า จะเกิดขึ้นจากนโยบายการขับเคลื่อนการนวดไทยและผลิตภัณฑ์สมุนไพรสู่ตลาดประเทศซาอุดิอาระเบีย ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรและนวดไทยมีความพร้อม ด้านการแข่งขันในตลาดประเทศซาอุดิอาระเบีย ประเทศไทยสามารถยกระดับภาพลักษณ์
เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและกระจายสินค้าเชิงรุกในตลาดตะวันออกกลาง ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพร และการนวดไทยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติประชากรโลกของศูนย์วิจัย Pew research center ในปี พ.ศ. 2565 (World Economic Forum. January6,2025) พบว่า มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามกว่า 1.9 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.54 ของประชากรโลกและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลกมีมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือกว่า 77 ล้านล้านบาท โดยคาดว่า จะทะยานแตะ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ (105 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2570 จากรายงานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่า การส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาหรับ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบียมีการขยายตัวที่ดี
ปัจจัยหลักในการเจาะตลาดใหญ่ ตะวันออกกลาง คือ การได้รับ การรับรองมาตรฐานฮาลาล โดยผู้ประกอบการไทยที่ต้องการ เปิดตลาดในภูมิภาคนี้จำเป็นต้องศึกษาความจำเป็นและความต้องการของลูกค้า เรื่อง การรับรองมาตรฐานฮาลาลซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ผู้บริโภคมุสลิมจะพิจารณาในการเลือกใช้สินค้าทุกชนิด
ด้าน ดร.ภญ.มณฑกา ธีรชัยสกุล ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสมุนไพร กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดย กองเศรษฐกิจสมุนไพร ได้ดำเนินการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสมุนไพร จำนวนกว่า 2,189 ราย
มีการเจรจาทางธุรกิจจำนวน 189 คู่ เกิดมูลค่าทางการตลาดกว่า 228 ล้านบาท รวมถึงมีการเชิดชูเกียรติผู้ประกอบการสมุนไพรผ่านรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ (Premium Herbal Products) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 จนถึงปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรผ่านการคัดเลือกทั้งสิ้นกว่า 1,257 ผลิตภัณฑ์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานฮาลาล จำนวน 280 ผลิตภัณฑ์
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้เป็นการต่อยอดผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพให้เข้าสู่มาตรฐานฮาลาลเพื่อขยายช่องทางการตลาดสู่ประเทศตะวันออกกลางโดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 60 ราย มีผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พร้อมเข้าสู่มาตรฐานฮาลาลกว่า 300 ผลิตภัณฑ์ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาผู้ประกอบการสมุนไพรของประเทศไทยซึ่งจะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศต่อไป