3 กุมภาพันธ์ 2568 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอบกระทู้ที่นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ตั้งถามกรณีมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) การกำหนดค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์และความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.อสม.
นายสมศักดิ์ รมว.สาธารณสุข ชี้แจงว่า การเพิ่มประสิทธิภาพ อสม.อบรมทักษะพื้นฐานในการทำงาน เพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญ ฝึกอบรมความรู้ความเชี่ยวชาญ ฝึกอบรมความรู้เฉพาะทาง ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แอปสมาร์ท อสม. ขับเคลื่อนนโยบายคนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจำตัว 3 คน
ในปี 2568 จะพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ NCDs เชิญชวนประชาชนนับคาร์บ พัฒนาการคัดกรองโรค คัดกรอง NCDs ติดตามเยี่ยมบ้านกับเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์ร่วมกิจกรรมและรณรงค์และแก้ไขปัญหา NCDs ในชุมชน
ส่วนการกำหนดค่าตอบแทนให้ อสม.นั้นเป็นไปอย่างเหมาะสมและจะให้ยั่งยืนซึ่งมีการร่าง พ.ร.บ.อสม.ในหมวด 3 และเสนอให้มีกองทุน อสม. หากช่วยเหลือดูแลทำให้ประชาชนลดการเจ็บป่วยจาก NCDs ที่เป็นโรคที่ใช้งบประมาณ สปสช.ถึง 52 % หรือ 79,000 ล้านบาทต่อปีจะนำส่วนนี้เข้าให้กองทุน นอกจากนี้สมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ได้เพิ่มค่าป่วยการ 2,000 บาทเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการตั้งมูลนิธิ อสม. เพื่อให้มีสวัสดิการเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายให้โดยตรงในเรื่องประสบสาธารณภัยจะช่วย 2,500-5,000 บาท อุบัติเหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ 1,000-5,000 บาท เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ช่วยเหลือค่าห้องพิเศษ สิทธิการประกาศเกียรติคุณและเชิดชูเกียรติ เป็น อสม.ดีเด่น
รางวัลชัยนาทนเรนทร อสม.ที่มีผลงานดีเด่นจะได้เป็นเงินรางวัล 1 แสนบาท สิทธิโควตาการศึกษาในสถาบันการศึกษาสังกัดกระทรวงสาธารณสุข การเข้าหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล 3,000 คน สำหรับคนที่มีความสามารถ
นอกจากนี้ถ้าเป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อสม.แห่งประเทศไทยได้คุยกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว ในวันที่ 17 ก.พ.นี้จะให้กู้โดยใช้ฌาปนกิจสงเคราะห์ค้ำประกัน คนรับสิทธิประโยชน์เมื่อ อสม.เสียชีวิตให้เซ็นต์รับรู้หนี้สินเพื่อจะกู้ดอกเบี้ยถูก ร้อยละ 6 จากเดิมร้อยละ 8 กู้ได้ 1 แสนบาท นายสมศักดิ์ กล่าว
สำหรับความคืบหน้าของร่างพ.ร.บ.อสม.นั้น นายสมศักดิ์ กล่าวยอมรับว่า ตนเองก็เหนื่อยใจเหมือนกันเข้ามารับตำหน่งได้ 9 เดือนแล้ว สัปดาห์แรกก็จะทำร่างพ.ร.บ.ให้อสม. ร่างแล้วเสร็จเมื่อ 6 เดือนก่อนในวันที่ 7 ส.ค.67 นำต้นร่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ครม. รับฟังความเห็นของกรมบัญชีกลางในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบริหารกองทุนหมุนเวียนที่จะให้ความเห็น มีรองนายกฯดูแลกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีกรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ
"ผมส่งเรื่องนี้ไปตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค.และมีการพูดคุยโต้ตอบกันและส่งหนังสือไปด้วยไม่น้อยกว่า 7 ครั้งและเมื่อวันที่ 16 ม.ค. กรมบัญชีกลางขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น โต้ตอบกัน ไม่รวมโทรศัพท์ก็ 7 ครั้งแล้ว โต้ตอบกันไปมาจะบอกว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ทำงาน มัวไปไหนแต่ท่านไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่ท่านต้องการก็เป็นความต้องการของกระทรวงฯ ที่อยากทำให้ อสม. ในทางราชการมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นด้วย" นายสมศักดิ์กล่าว
ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวว่า เพิ่งทราบสาเหตุที่ล่าช้าของพ.ร.บ.นี้ ไม่เกี่ยวกับกระทรวงสาธารสุขซึ่งแต่ก่อนเคยสงสัยเพราะสนใจกฎหมาย อสม.และเป็นกฎหมายใฝ่ฝันของชาวสาธารณสุขทุกคน อยากเห็นกฎหมายคลอดออกมาในยุคที่นายสมศักดิ์เป็นรัฐมนตรี
ดังนั้น ตนขอสำเนาเอกสารเพื่อจะตามต่อที่กรมบัญชีกลางเป็นการถามตอบที่มาราธอนมากทั้งที่เป็นเรื่องประเทศชาติบ้านเมือง
กรณีนี้ถ่วงเวลาของกฎหมายดี ๆ ของประชาชนถึง 1.7 ล้านคน อสม. เป็นแขนขาของราชการที่ดูแลประชาชนโดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมาขอเอกสารมาศึกษาและจะช่วยติดตามและตั้งกระทู้ถามกระทรวงการคลัง ทำไมไม่รู้ร้อนรู้หนาว ความเดือดร้อน อสม. ที่รอความช่วยเหลือจากทางราชการ
อยากให้เป็นขวัญกำลังใจ อสม.จะได้ไม่ต้องขอค่าป่วยการครั้งแล้วครั้งเล่าจะได้ไม่รู้สึกว่า อสม.เรียกร้องมาก จริง ๆ เขาไม่ได้เรียกร้อง ดังนั้น เพื่อความเหมาะสมยั่งยืนมีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ระยะยาวดีกว่า