นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษากองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ปภ.ช.) เปิดเผยว่า ได้รายงานถึงสถานการณ์ฝุ่น วันนี้ ( 2 กุมภาพันธ์ 2568) พบว่า หลายพื้นที่มีค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังโดยภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน 14 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 10.9 - 59.0 มคก./ลบ.ม.
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในบริเวณค่าฝุ่นสูงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (พื้นที่สีแดง) ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ทันที โดยสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK
สำหรับสถานการณ์ฝุ่นควันในสัปดาห์นี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงวันอังคารที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ศักยภาพในการระบายอากาศต่ำลง จากนั้นจะมีลมจากภาคเหนือและภาคใต้พัดเข้ามาทำให้สถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่ ดาวเทียมตรวจพบค่าฮอตสปอตในประเทศภูมิภาคอาเซียน อาทิ เมียนมา ลาว กัมพูชาและมาเลเซียมีจุด Hot Spot เพิ่มสูง ขึ้นในช่วงสองวันที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับประเทศไทยที่มีลมนิ่งทำให้เกิดค่าฝุ่นสะสม ทำให้วันนี้ เวลา 13.00 น. ค่าฝุ่นในหลายประเทศในภูมิภาคบางเมืองตรวจค่าฝุ่นสูงกว่า 190 AQI
ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (3 กุมภาพันธ์ ) เวลา 10.00 น. ปภ.ช.ได้มีข้อสั่งการไปยังทุกจังหวัดให้จัดกิจกรรม Kick Off เคาะประตูบ้าน “ห้ามเผา” เพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันทุกพื้นที่ โดยใช้กลไกท้องถิ่นลงพื้นที่เคาะประตูบ้านประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกให้กับประชาชน ร่วมกันไม่เผาเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน ขณะที่ได้มีการกำชับให้ฝ่ายป้องกันและปราบปรามบังคับใช้กฎหมายดำเนินการจับกุม ผู้เผาอย่างเคร่งครัด
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก ปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่ง “ห้ามใช้ชั่วคราว” ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะที่มีควันดำเกินมาตรฐานต้องนำรถไปปรับปรุงแก้ไข และนำรถมายกเลิกคำสั่งภายในระยะเวลา 15 วัน หากเพิกเฉยไม่แก้ไขจะถูกยกเลิกทะเบียนในการใช้ยานพาหนะ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในเขตเมือง และขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการภูธรจังหวัดแต่ละจังหวัดกวดขันจับกุมรถที่ปล่อยควันดำซึ่งเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่น PM 2.5