จับตา “คมนาคม” ชงครม.ไฟเขียว สร้าง “ไฮสปีดไทย-จีน เฟส 2” วงเงิน 3.4 แสนล้าน

04 ก.พ. 2568 | 10:00 น.

“คมนาคม” ชงครม.ไฟเขียว “ไฮสปีดไทย-จีน” เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย วงเงิน 3.4 แสนล้านบาท ฟากรฟท.จ่อเปิดประมูล 10 สัญญา ภายในปีนี้ คาดเปิดให้บริการภายในปี 74

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ก.พ.) การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมจะเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร วงเงิน 341,351.42 ล้านบาท 

ทั้งนี้ตามแผนหาก ครม. เห็นชอบ คาดว่าจะสามารถเปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้าง หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 และเปิดให้บริการในปี 2574 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า เมื่อโครงการไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคายได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ปัจจุบัน รฟท.จะเร่งรัดจัดทำเอกสารประกวดราคา (TOR) และเปิดประมูลจัดหาเอกชนก่อสร้างงานโยธาทันทีภายในปีนี้ คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างในปีนี้ และเริ่มงานก่อสร้างในปลายปี 2568 

นอกจากนี้ในปัจจุบัน รฟท.ยังอยู่ระหว่างจัดทำ TOR เพื่อศึกษารูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (PPP) ในการบริหารโครงการและเดินรถไฮสปีดไทย - จีน ตลอดแนวเส้นทางช่วงกรุงเทพฯ – หนองคาย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 6 เดือนแล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะนำผลการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบ PPP เสนอ ครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อเปิด PPP จัดหาเอกชนร่วมลงทุนต่อไป 
 

“ปีนี้จะเป็นปีที่โครงการไฮสปีดไทย – จีนแล้วเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนของงานโยธาการก่อสร้างต่างๆ จะเปิดประมูลและเดินหน้าตอกเสาเข็ม ส่วนเรื่องเดินรถก็จะศึกษาเห็นภาพชัดเจนของการเปิดให้เอกชนร่วม PPP เดินรถตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งการเร่งรัดดำเนินการเหล่านี้เพื่อให้ทันต่อการเปิดให้บริการไฮสปีดไทย – จีนเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ที่จะเปิดให้บริการในปี 2571”

สำหรับไฮสปีดไทย - จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานโยธา 235,129 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีตามแผน รฟท.จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) จำนวน 10 สัญญา แบ่งออกเป็น งานโยธา 9 สัญญา และงานติดตั้งระบบและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา 
 

ส่วนรูปแบบโครงสร้างได้ศึกษาเพื่อลดผลกระทบประชาชน โดยจะพัฒนาเป็นทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กิโลเมตร และทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กิโลเมตร ให้บริการ 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี และ 5.สถานีหนองคาย

สำหรับรายละเอียดโครงการมีการออกแบบรางมีขนาด 1.435 เมตร โดยรถไฟสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 250กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ยในการให้บริการ 192 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ประมาณ 1 ชั่วโมง 26 นาที และจากนครราชสีมา-หนองคาย ประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที และหากนั่งจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 28 นาที

ด้านปริมาณผู้โดยสาร ประเมินว่าในช่วงนครราชสีมา - หนองคาย คาดการณ์ว่าปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 มีปริมาณผู้โดยสาร 6,710 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 10,060 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 13,420 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 16,490 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 17,930 คน-เที่ยวต่อวัน 

นอกจากนี้ตลอดแนวเส้นทาง ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารปีแรกที่เปิดให้บริการในปี 2574 ผู้โดยสารอยู่ที่ 9,030 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2578 จำนวน 13,550 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2583 จำนวน 18,070 คน-เที่ยวต่อวัน, ปี 2593 จำนวน 22,250 คน-เที่ยวต่อวัน และปี 2603 จำนวน 24,110 คน-เที่ยวต่อวัน