บอร์ดรฟท.ไฟเขียว “ไฮสปีดไทย-จีน” เฟส 2 แตะ 3.41 แสนล้าน

22 เม.ย. 2567 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2567 | 10:24 น.
1.7 k

บอร์ดรฟท.เคาะสร้าง “ไฮสปีดไทย-จีน” เฟส 2 วงเงิน 3.41 แสนล้านบาท เล็งชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียว จ่อเปิดประมูลปี 68 รวม 13 สัญญา ขณะที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาเตรียมประมูลแยก 1 สัญญา หวังเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟทางคู่

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.มีมติอนุมัติโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนระบบรถไฟความเร็วสูง(ไฮสปีดไทย-จีน) ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงินรวม 341,351 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟความเร็วสูง 235,129 ล้านบาท ,ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 10,310 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง-ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 80,165 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการ ควบคุมงานและรับรองระบบ 10,060 ล้านบาท ปัจจุบันได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดของโครงการแล้วเสร็จ

 

ส่วนรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาเห็นชอบ หลังจากนี้รฟท.จะรายงานต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

 

ทั้งนี้ตามแผนโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ภายในปี 2568 แบ่งออกเป็น งานโยธา 13 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาแนวเส้นทาง 11 สัญญา มีมูลค่า 20,000 ล้านบาทต่อสัญญา เพื่อไม่ให้มีผู้แข่งขันน้อยรายหรือมากรายมากจนเกินไป ,ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา โดยมีระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างงานโยธา 4 ปี หรือ 48 เดือน และงานระบบราง ,ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 1 สัญญา ระยะเวลาก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 5 ปีครึ่งหรือ 66 เดือน คาดว่าดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2573 พร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2574

ขณะเดียวกันโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ได้มีการปรับแบบการก่อสร้างงานโยธา แบ่งเป็น ทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน ระยะทาง 154.64 กม. เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี 5 สถานีใหญ่ ประกอบด้วย 1.สถานีบัวใหญ่ 2.สถานีบ้านไผ่ 3.สถานีขอนแก่น 4.สถานีอุดรธานี 5.สถานีหนองคาย

 

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายและย่านกองเก็บตู้สินค้าสินค้านาทาเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย วงเงิน 5,686 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่างานก่อสร้างงานโยธา 2,325 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน 2,108 ล้านบาท ค่าลงทุนระบบราง ,ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล 508 ล้านบาท ค่าลงทุนเครื่องมือ/อุปกรณ์และรถจักรศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา 639 ล้านบาท ,ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการควบคุมงานและรับรองระบบ 104 ล้านบาท

“สาเหตุที่มีการแยกสัญญาออกมาดำเนินการจากโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 เนื่องจากผลการศึกษาโครงการฯพบว่า การแยกสัญญานาทาจะเป็นประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นโครงการที่สำคัญเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟทางคู่และศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าของกรมขนส่งทางบก (ขบ.) ทำให้รฟท.มีความจำเป็นต้องแยกสัญญา”

 

สำหรับโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายและย่านกองเก็บตู้สินค้าสินค้านาทาเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย เบื้องต้นรฟท.จะเสนอต่อกระทรวงคมนาคม,คณะกรรมการ PPP และครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป ซึ่งเป็นการเปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี โดยมีค่าสัมปทานที่รฟท.จะได้รับตลอดอายุโครงการฯ 4,457 ล้านบาท คาดว่าเปิดให้บริการได้พร้อมกับโครงการไฮสปีดไทย-จีน ระยะที่ 2 ทั้งนี้ตามผลการศึกษาคาดว่าจะมีปริมาณสินค้าขนส่งบนเส้นทางรถไฟผ่านศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทาเติบโตขึ้นเป็น 11.06 ล้านตันในปี 2590