“สุรพงษ์” ยืนกราน “ไฮสปีดไทย-จีน” สถานีอยุธยา ไม่กระทบมรดกโลก

01 มี.ค. 2567 | 12:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2567 | 12:44 น.

“สุรพงษ์” ยันไฮสปีดไทย-จีน สถานีอยุธยา ไม่กระทบมรดกโลก เล็งพัฒนาเมือง-อนุรักษ์ ตั้งเป้าลงนามสัญญา 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ภายในเดือนมี.ค.นี้ ลุ้นเปิดให้บริการเฟสแรก ปี 71

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด)ไทย - จีน สถานีอยุธยา ว่า การลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในครั้งนี้ เป็นการยืนยันว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน สถานีอยุธยา จะเดินหน้าต่อไปอย่างแน่นอน แต่โจทย์ที่สำคัญ คือต้องพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการอนุรักษ์มรดกโลก 

 

“ข้อเท็จจริงในวันนี้ คือ การก่อสร้างของโครงการฯ จะไม่กระทบกับอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะมีระยะห่างถึง 1.5 กิโลเมตร และยังคั่นกลางด้วยแม่น้ำป่าสัก ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจถึงตัวโครงการฯ และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเมืองไปด้วยกัน” 
 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า การเร่งรัดโครงการในสัญญา 4-5 งานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท เบื้องต้นรฟท.จะลงนามเซ็นสัญญาได้ในช่วงเดือนมี.ค. นี้ ขอให้มั่นใจว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร จะแล้วเสร็จไม่เกินปี 2571 

 

“ เรื่องมรดกโลกต้องมองใน 2 มิติ คือการรักษาไว้ซึ่งความภูมิใจของประเทศชาติ และต้องการให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าถึงมรดกโลกเหมือนกับเรา เพราะฉะนั้นเส้นทางคมนาคม คือ หัวใจสำคัญในการลำเลียงนักท่องเที่ยวเข้ามาสู่เมือง เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP)” 

 

ส่วนขั้นตอนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจง และยังไม่มีข้อกังวลใจในเรื่องนี้ พร้อมยืนยันว่าการดำเนินโครงการจะไม่มีการเวนคืนที่ดินแม้ตารางนิ้วเดียว เพราะใช้พื้นที่เดิมในการก่อสร้าง 
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้มีตัวแทนภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว พ่อค้า แม่ค้า และประชาชน มาต้อนรับ และให้กำลังใจ พร้อมยื่นข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคม เร่งเดินหน้าโครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน สถานีอยุธยา ตามแผนงานเดิม โดยส่วนใหญ่มองว่าจะเป็นประโยชน์กับพื้นที่ในทุกมิติ

 

นอกจากนี้ตัวแทนภาคประชาชน ระบุว่า ต้องการเห็นการเดินทางที่สะดวกกับทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ และมองว่าการขุดทางรถไฟความเร็วสูงลงใต้ดินทำได้ยาก และเสียเวลาในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม รวมถึงผลกระทบกับโบราณสถาน หรือวัตถุโบราณที่ยังไม่ขุดพบ พร้อมยืนยันว่าประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มั่นใจว่าโครงการนี้มีการศึกษามาแล้วว่าไม่กระทบกับมรดกโลก จึงอยากให้เดินหน้า เพราะอยากเห็นความเจริญ อยากเห็นรถไฟความเร็วสูงแล่นผ่าน เพื่อทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น