4 กุมภาพันธ์ วันมะเร็งโลก เช็กสัญญาณเตือนที่ควรรู้  

04 ก.พ. 2568 | 03:00 น.

วันนี้ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น วันมะเร็งโลก ชวนทำความรู้จัก โรคมะเร็ง พร้อมเช็กสัญญาณเตือนสำคัญและแนวทางการป้องกันโรคมะเร็งที่ควรรู้

วันนี้ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น วันมะเร็งโลก หรือ "World Cancer Day" โดยสมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (Union for International Cancer Control, UICC) และ องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO)

กำหนดให้วันนี้เป็น "วันมะเร็งโลก" เพื่อร่วมรณรงค์ให้ทุกคนสำรวจและเฝ้าระวังสุขภาพตนเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสังเกตสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งที่อาจแอบแฝงอยู่ในร่างกายเพื่อให้ทุกคนทั่วโลกร่วมใจกันโดยมีเป้าหมายที่จะลดความเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 

โรคมะเร็ง คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์ร่างกายที่มีความผิดปกติของ DNA หรือสารพันธุกรรมที่มีการเจริญเติบโตแบ่งตัวเพิ่มรวดเร็วจนควบคุมไม่ได้จนเกิดการลุกลามจนมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียงของร่างกาย 

ทั้งนี้ โรคมะเร็งสามารถป้องกันตนเองได้การคัดกรองความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ การตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้

อาการที่ควรเฝ้าระวัง

  • มีก้อนเนื้อเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ที่เต้านม หรือส่วนอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบ
  • อาการไอและเสียงแหบแห้ง หากมีอาการไอต่อเนื่องหรือเสียงแหบ ควรปรึกษาแพทย์
  • ความผิดปกติในระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย หรืออุจจาระมีเลือดปน
  • ความผิดปกติในกระเพาะปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะลำบาก หรือมีเลือดปน
  • อาการปวดแบบไร้สาเหตุ ปวดตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • น้ำหนักลดโดยไร้สาเหตุ น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนการกินหรือการออกกำลังกาย
  • กลืนอาหารลำบาก รู้สึกติดขัดหรือเจ็บเมื่อกลืนอาหาร
  • เลือดออกผิดปกติ เช่น ไอเป็นเลือด หรือเลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่มีสาเหตุ
  • การเปลี่ยนแปลงของไฝบนผิวหนัง ไฝที่ขยายขนาดหรือเปลี่ยนสี

การป้องกันโรคมะเร็ง

1. การป้องกันโรคมะเร็งสามารถทำได้หลายวิธี โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามช่วงอายุที่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงการตรวจคัดกรองมะเร็งจะช่วยให้พบโรคในระยะเริ่มต้นและทำให้การรักษามีโอกาสสำเร็จสูง

3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นสาเหตุที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และสมดุล อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดการเกิดมะเร็ง

5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งและช่วยรักษาร่างกายให้แข็งแรง

6. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อมะเร็ง เช่น สารเคมีที่อาจทำให้เกิดมะเร็ง ควรใช้เครื่องมือป้องกันเมื่อจำเป็น

ข้อมูล : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, โรงพยาบาลกรุงเทพ