ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น เงื่อนไขอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่ พบคำตอบที่นี่

28 ม.ค. 2565 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 16:48 น.
5.5 k

ประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น มีเงื่อนไขอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่ พบคำตอบที่นี่อ่านครบจบ หมอศิริราชเผยบริบทภายในและภายนอกต้องลงตัว

ต่อกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมประกาศให้โควิด-19 (Covid-10) เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) โดยการประชุมจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ 

 

 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

 

เมื่อคืนฝันแปลกๆ เห็นตัวเลขเต็มไปหมด ผู้สนใจเรื่องเลขเด็ดกรุณาจดจ่อให้ดี 
ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าเวลาที่เหมาะสมในการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นคือเมื่อไร

 

 

ส่วนตัวแล้วคิดว่าแต่ละประเทศคงต้องหาจุดลงตัวที่เหมาะสมกับบริบทภายใน 
 

ส่วนบริบทภายนอกต้องพิจารณาจากการเดินทางเข้ามาจากทุกทิศทางและทุกช่องทาง ส่วนการประกาศสถานการณ์โดยรวมขององค์การอนามัยโลกเขาคงต้องทำให้รอบคอบ 

 

 

ในฐานะผู้คุ้มกฏกติกากลางที่เป็นสากล และสามารถนำคำแนะนำขององค์การฯ มาใช้ประกอบการพิจารณาเงื่อนไขของบ้านเราเองได้ 

 

 

 

สธ. เล็งประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

 

 

การจะประกาศได้อย่างมั่นใจ  ควรทำเมื่อองค์ประกอบในประเทศ มีครบทุกข้อ ดังนี้

 

 

 

  • ยอดผู้ป่วยรายวันต้องรวมการตรวจทุกประเภทในทุกกลุ่มคน ไม่ว่าจะเป็น ATK ผู้เดินทางเข้าประเทศ ผู้ต้องโทษ หรือ การตรวจเชิงรุก เพราะทั้งหมดทางการแพทย์ถือว่าเป็นผู้ป่วย และต้องใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อการดูแลรักษาและควบคุมโรค
  • ยอดผู้ป่วยรายวันทั้งประเทศตามข้อ 1. ต้องไม่เกิน 10,000 คน ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
     
  • ยอดผู้ป่วยรายวันรายจังหวัดของทุกจังหวัด ต้องลดลงต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
  • ยอดผู้ป่วยอาการรุนแรง (ใช้ไฮโฟลว์หรือใช้เครื่องช่วยหายใจหรือใช้เครื่องพยุงอวัยวะอื่น) ต้องไม่เกิน 1,000 คน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน (คิดเป็น 1.0% ของข้อ 2.)
  • ยอดผู้เสียชีวิต ต้องไม่เกิน 20 คนต่อวัน  ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน (คิดเป็น 0.2% ของข้อ 2.) 

 

 

 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน  ในการพร้อมใจเพื่อกลับเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่ที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดไปอีกระยะหนึ่ง 

 

 

จนกว่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะโรคโควิด-19 ยังมีความร้ายแรงในการโจมตีปอดของมนุษย์แบบที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน 

 

 

ดังที่มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์หัวใส เข้าไปส่องดูเส้นเลือดและระบบไหลเวียนโลหิตที่ปอดของคนเกิดปอดอักเสบโควิด แล้วพบความมหัศจรรย์พันลึกมากมาย 

 

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 28 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 8,450 ราย  

 

 

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 192,037 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 28 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,484 ราย กำลังรักษา 83,698 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 141,154 ราย