โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 ไม่น่าวิตก หมอมนูชี้โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่น

27 ม.ค. 2565 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ม.ค. 2565 | 15:29 น.

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 ไม่น่าวิตก หมอมนูชี้โควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่หากไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหลังจากโอมิครอน

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ประเทศแอฟริกาใต้รายงานสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว 

 

 

หลังจากนั้นไม่นานมากกว่า 40 ประเทศพบโอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ย่อย BA.2 มากกว่า 8,000 คน 

 

 

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยก็พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 เช่นกัน
มีรายงานว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 อีก 20 ตำแหน่ง แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น 

 

 

ไม่ทำให้คนเข้านอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะหลบหลีกภูมิคุ้มกัน

ถ้าเคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 ยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอทำให้ไม่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 อีก 

 

 

ขณะนี้สายพันธ์ BA.2 ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล

 

 

คนไทยไม่ต้องวิตกกังวลกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากเกินไป ในอดีตที่มีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตา ก็มีสายพันธุ์ย่อยเดลตาพลัส

 

 

แต่พอสายพันธุ์โอมิครอนมา สายพันธุ์เดลตา และเดลตาพลัสก็ถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์โอมิครอน

 

 

 

โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 ไม่น่าวิตก

 

 

 

ถ้าจะมีการระบาดรอบต่อไป ต้องมีการกลายพันธุ์มากกว่าเดิมจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายกว่าโอมิครอน 

 

 

และหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหลังจากโอมิครอน 

โรคโควิด-19 ก็จะเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ในที่สุด

 

 

สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 27 มกราคม 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น     8,078 ราย  

 

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 183,587 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย หายป่วยเพิ่ม 6,595 ราย กำลังรักษา 82,760 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 133,670 ราย