วัคซีนเข็ม3 สูตรไขว้ได้ผลดีมาก ฉีดแบบไหนกระตุ้นภูมิได้สูงเท่าไหร่ เช็คเลย

25 ม.ค. 2565 | 13:03 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ม.ค. 2565 | 20:03 น.
3.0 k

วัคซีนเข็ม3 สูตรไขว้ได้ผลดีมาก ฉีดแบบไหนกระตุ้นภูมิได้สูงเท่าไหร่ เช็คเลย หมอเฉลิมชัยเผยผลวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ที่บราซิล ซึ่งมีเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและการดื้อต่อวัคซีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

 

ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สูตรไขว้ ได้ผลดีมาก ยืนยันจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford ที่บราซิล

 

 

บราซิลเป็นประเทศที่มีการระบาดของโควิด-19 (Covid-19) และมีเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรงและการดื้อต่อวัคซีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง

 

 

จึงเป็นประเทศที่วัคซีนหลายชนิดได้ไปทำการทดลองและวิจัย เช่น วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca และวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac เป็นต้น

 

 

โดยการวิจัยในช่วงแรกพบว่า การฉีดวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 2 เข็มให้ประสิทธิผลในการป้องกัน ที่แตกต่างกันใน 3 ประเทศ ได้แก่ ตุรกี 83.5% ชิลี 65.9% และบราซิล 50.7%
 

ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากชนิดไวรัสที่ดื้อต่อวัคซีนที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ
แต่เมื่อดูเรื่องประสิทธิผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล ในบราซิลเพิ่มขึ้นเป็น 83.7% และชิลีเพิ่มขึ้นเป็น 87.5%

 

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็มีผลการวิจัยอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่พบระดับภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนของวัคซีน mRNA และไวรัสเป็นพาหะที่สูงมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย

 

 

ประกอบกับมีข้อมูลการศึกษาจากประเทศไทยที่พบว่า การฉีดวัคซีนสูตรไขว้ (Heterologous) โดยเริ่มต้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะหรือ mRNA ได้ผลดีมาก

 

 

จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขบราซิลสนับสนุนทุนวิจัย และให้นักวิจัยร่วมกันศึกษาระหว่างทีมของมหาวิทยาลัย Oxford กับของบราซิลเอง

 

 

ได้ทำการศึกษาวิจัยวัคซีนสูตรไขว้ในทำนองเดียวกับประเทศไทย แต่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ 1250 ราย และล่าสุดได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ระดับโลกคือ Lancet แล้ว

โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 4 กลุ่ม  ในแต่ละกลุ่มจะถูกกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนที่แตกต่างกัน ได้แก่

 

 

  • วัคซีนเชื้อตายของ Sinovac 
  • วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ AstraZeneca 
  • วัคซีนไวรัสเป็นพาหะของ Johnson 
  • วัคซีน mRNA ของ Pfizer

 

 

โดยทดลองทั้งในกลุ่มอาสาสมัครที่อายุ 18-60 ปี และกลุ่มที่มากกว่า 60 ปีขึ้นไป
โดยเบื้องต้นตรวจพบว่า ภูมิคุ้มกันที่ 6 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

 

 

โดยในกลุ่มอายุ 18-60 ปี ระดับภูมิคุ้มกันที่ตรวจพบได้เหลือ 20.4% ในขณะที่กลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีเหลือ 8.9%

 

 

วัคซีนเข็ม 3 สูตรไขว้กระตุ้นภูมิได้ดีมาก

 

 

 

เมื่อฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 แล้ว พบว่าวัคซีนทุกเทคโนโลยีจากทั้ง 4 บริษัทสามารถกระตุ้นได้ดี ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการฉีดเพียง 2 เข็ม

 

 

โดยกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac จะขึ้นสูงไป 12 เท่า
ในขณะที่ฉีดด้วยไวรัสเป็นพาหะของ Johnson & Johnson เพิ่มขึ้น 77 เท่า
ของ AstraZeneca เพิ่มขึ้น 90 เท่า

 

 

ของ Pfizer เพิ่มขึ้น 152 เท่า

 

 

โดยเป็นการวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อส่วนหนาม ทั้งแบบระดับภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันชนิดต่อต้านทำลายล้าง(NAb)

 

 

ส่วนจุดเด่นของวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 คือ สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต่อส่วนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนามได้ ในขณะที่วัคซีนอีก 3 ชนิดไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันดังกล่าวได้

 

 

งานวิจัยดังกล่าวนี้ เป็นการยืนยันว่าการฉีดวัคซีนสูตรไขว้เข็ม 3 ตามหลังวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรกให้ภูมิคุ้มกันที่ขึ้นสูงมาก

 

 

จะเป็นประโยชน์กับประเทศรายได้น้อยและปานกลาง ที่นำร่องด้วยการฉีดวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มแรก ว่าเมื่อฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนเทคโนโลยีอื่น จะได้ภูมิคุ้มกันที่สูงมาก และเป็นประโยชน์ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19