"โอไมครอน" กับ 3 คำถาม-คำตอบน่ารู้ ติดง่ายจริงไหม รุนแรงแค่ไหน เช็กเลย

07 ธ.ค. 2564 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2564 | 19:23 น.
11.0 k

โอไมครอน กับ 3 คำถาม-คำตอบน่ารู้ ติดง่ายจริงไหม รุนแรงแค่ไหน หลีกเลี่ยงวัคซีนได้หรือไม่ หมอยงช่วยไขข้อสงสัย ขณะที่ไทยพบผู้ติดเชื้อแล้ว 1 ราย

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) โดยมีข้อความว่า 
โควิด-19โอไมครอน” คำถามที่ต้องการคำตอบ  
ทั่วโลกให้ความสนใจกับ covid-19 สายพันธุ์ Omicron เป็นสายพันธุ์ที่พบใหม่ มีการกลายพันธุ์เป็นจำนวนมาก สิ่งที่ต้องการคำตอบ เร่งด่วนคือ
1.โอไมครอน ติดต่อง่ายจริงหรือไม่
ขณะนี้ หลังจากพบสายพันธุ์โอไมครอน ที่แอฟริกาตอนใต้ ไวรัสนี้ ได้แพร่กระจาย พบในประเทศต่างๆนอกทวีปแอฟริการวมแล้วเกือบ 50 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่าย กว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) อย่างแน่นอน โดยมีอำนาจการแพร่กระจายโรคมากกว่าสายพันธุ์เดลตาอย่างน้อย 2 เท่าขึ้นไป และในอนาคตสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลตา

2.โอไมครอน หลบหลีกภูมิต้านทานจากการติดเชื้อเดิม หรือวัคซีนได้หรือไม่
ผู้ป่วยติดเชื้อที่พบขณะนี้ มีจำนวนหนึ่งฉีดวัคซีนครบแล้ว 2 เข็ม และอีกจำนวนหนึ่งถึงแม้ว่าจะเคยเป็นโรค covid-19 มาก่อน ก็สามารถติดเชื้อได้ แสดงว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นป้องกันได้แบบไม่สมบูรณ์ จึงเกิดการติดเชื้อได้ แต่เกือบทั้งหมดมีอาการลดลงหรือ ไม่มีอาการเลย วัคซีนยังสามารถป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 
3.โอไมครอน ความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร
ในผู้ป่วยที่พบ นอกทวีปแอฟริกา จำนวนมากกว่าพันราย ส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ในทวีปแอฟริกาเอง มีการรายงานเบื้องต้น ในถิ่นระบาดของโรค พบว่าส่วนใหญ่เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และที่เหลือส่วนใหญ่มีอาการน้อย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอ เพราะในระยะเริ่มต้นการติดเชื้อ อาจจะยังมีอาการน้อย การเกิดปอดบวม หรือต้องเข้าโรงพยาบาล จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง คำถามข้อนี้จึงยังไม่สามารถสรุปได้ ว่ามีความรุนแรงอย่างไร คงต้องรอคำตอบอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็น่าจะรู้เรื่อง แต่แนวโน้มความรุนแรงลดลง 

ความสำคัญของ โอไมครอน อยู่ที่ “ความรุนแรงของโรค” ว่าเชื้อนี้จะลดความรุนแรงลงหรือไม่ ถึงแม้ว่าโรคนี้จะแพร่กระจายได้เป็นจำนวนมาก และหลบหลีกภูมิต้านทานได้เป็นบางส่วน ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่เคยป่วยมาก่อน มีอาการน้อยมากหรือไม่มีอาการ เมื่อติดเชื้อแล้ว ไม่มีอาการ หรือ มีอาการน้อย ก็จะช่วยกระตุ้นภูมิต้านทาน เหมือนกับโรคทางเดินหายใจที่พบอยู่ขณะนี้ และในอนาคตความจำเป็นในการต้องตรวจกรองผู้สัมผัสทั้งหมด ก็ไม่มีความจำเป็น จะเป็นโรคทางเดินหายใจ ที่มักจะเป็นในเด็กที่ไม่มีภูมิต้านทาน หรือเคยติดเชื้อมาก่อน และเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็จะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อไปก็จะไม่มีอาการ เป็นเพียงเสริมภูมิต้านทานให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีภูมิต้านทาน
โรคไวรัสทางเดินหายใจในผู้ที่แข็งแรง ที่พบส่วนใหญ่ในขณะนี้ จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญ จะเป็นปัญหาในกลุ่มเสี่ยงหรือร่างกายไม่แข็งแรง 
ในระยะเวลาอีกไม่นานก็คงรู้คำตอบจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดที่ขณะนี้ทุกคนตั้งใจรอ

โอไมครอนกับคำถามที่ต้องตอบ
ทั้งนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว 1 ราย ซึ่ง "ฐานเศรษฐกิจ" ได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้โดยผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นคนไทยสัญชาติอเมริกันอายุ 35 ปี อาชีพนักธุรกิจ ไปอยู่ที่สเปนมาเป็นเวลาหนึ่งปี
เป็นผู้ที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่เคยติดโควิดมาก่อน และได้รับวัคซีน Johnson & Johnson มาแล้วหนึ่งเข็ม ซึ่งมีไทม์ไลน์ดังนี้
28 พฤศจิกายน 2564 ออกเดินทางจากสเปน ผลตรวจต้นทาง(PCR)เป็นลบ ไม่มีการติดเชื้อ
29 พฤศจิกายน 2564 พักเปลี่ยนเครื่องที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 9 ชั่วโมง โดยที่สวมหน้ากาก และไม่ได้พูดคุยกับใคร
30 พฤศจิกายน 2564 มาถึงประเทศไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเข้าสู่ระบบ Test&Go โดยการตรวจหาด้วยวิธี PCR ที่โรงพยาบาลคู่สัญญา
1 ธันวาคม 2564 ทางโรงพยาบาลแจ้งผลว่า ติดโควิด แต่ยังไม่ทราบชนิดของสายพันธุ์ โดยพบปริมาณไวรัสค่อนข้างน้อย (Ct = 33.10)
3 ธันวาคม 2564 ได้ตรวจหารหัสสารพันธุกรรมหรือจีโนม(Genome) โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
โดยที่ผู้ติดเชื้อรายดังกล่าว ไม่มีอาการแต่อย่างใด เอกซเรย์ปอดปกติ