ฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดอย่างชัดเจน ผลวิจัยพบ AstraZeneca ลดการตายเหลือ 0.03%

27 ส.ค. 2564 | 09:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 16:23 น.
1.3 k

หมอเฉลิมชัยยันฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดอย่างชัดเจน ระบุผลศึกษาวิจัยที่บาห์เรนพบ AstraZeneca ลดการตายเหลือ 0.03%

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า  
ฉีดวัคซีนดีกว่าไม่ฉีดอย่างชัดเจน
รายงานการศึกษาที่บาห์เรน เปรียบเทียบประสิทธิผล 4 วัคซีน Pfizer AstraZeneca Sputnik V และ Sinopharm
จากการที่พบ ไวรัสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ต่างๆหลากหลาย ทำให้เกิดคำถามถึงประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งได้รับการพัฒนาไว้สำหรับต่อสู้ไวรัสสายพันธุ์เดิมจากอู่ฮั่นว่าจะมีประสิทธิผลในโลกแห่งความเป็นจริง (Real world) เมื่อพบกับไวรัสกลายพันธุ์ เช่น สายพันธุ์เดลตามากน้อยอย่างไร ในสี่มิติ คือ 
1.การติดเชื้อ
2.ป่วยมีอาการ จนต้องนอนรพ.
3.ป่วยหนักเข้าไอซียู
4.การเสียชีวิต
รายงานการศึกษา ที่ทยอยออกมาเป็นระยะ ยังตอบคำถามได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมักจะเป็นรายงานการศึกษาของวัคซีนแต่ละชนิดว่ามีประสิทธิผล(Effectiveness) ในโลกแห่งความเป็นจริง ที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น

รายงานการศึกษาครั้งนี้ ที่บาห์เรน ได้แก้ปัญหาจุดอ่อนดังกล่าวโดยศึกษาเปรียบเทียบ การฉีดวัคซีนถึง 4 ชนิด ในประชากรของบาห์เรนในห้วงเวลาเดียวกัน ที่มีไวรัสชนิดเดียวกัน และดูในกลุ่มประชากรที่อายุใกล้เคียงกัน
ผลที่น่าสนใจคือ กลุ่มที่ฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นชนิดใดใน 4 ชนิด ล้วนมีประโยชน์หรือมีประสิทธิผลในทุกมิติเหนือกว่ากลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน
ส่วนการเปรียบเทียบในรายละเอียดระหว่าง 4 วัคซีนกันเอง จากวัคซีนสองชนิดที่พอจะเปรียบเทียบกันได้ เพราะมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีน และช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ Sinopharm และ Pfizer พบว่า
วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิผลเหนือกว่า Sinopharm

โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การเก็บสถิติ รวบรวมที่ประเทศบาห์เรน ซึ่งมีประชากร 1.5 ล้านคนและมีการฉีดวัคซีนไป 1 ล้านคน
2.ติดตามการฉีดวัคซีน 4 ชนิด ได้แก่
1)Pfizer 
2)AstraZeneca 
3)Sputnik V
4)Sinopharm
โดยการติดตามนั้น จะดูผลลัพธ์ 4 มิติด้วยกัน ได้แก่
1.อัตราการติดเชื้อ
2.ป่วยมีอาการจนต้องนอนรพ.
3.ป่วยอาการหนักต้องเข้าไอซียู
4.อัตราการเสียชีวิต

การฉีดวัคซีนแต่ละชนิดตามอายุ
พบว่าในช่วงวันที่ 9 ธันวาคม 2563 ถึง 17 กรกฎาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีน
Sinopharm 569,054 ราย
Sputnik V 184,526 ราย
AstraZeneca  73,765 ราย
Pfizer 169,058 ราย
พบว่าอายุเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มวัคซีนใกล้เคียงกันคือ 35-39 ปี ประชากรที่รับวัคซีนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และไวรัสสายพันธุ์ที่เด่นเป็นหลัก ได้แก่สายพันธุ์เดลตา
โดยจากการติดตามข้อมูลพบว่า มีผู้ติดเชื้อโดยวิธีทดสอบ PCR 180,840 ราย
มีอาการต้องเข้ารพ. 13,105 ราย 
อาการหนักเข้าไอซียู 1636 ราย
และเสียชีวิตทั้งสิ้น 1030 ราย

เมื่อดูสถิติการเสียชีวิตพบว่า กลุ่มที่ฉีดวัคซีนทุกชนิด มีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ถ้าดูอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มฉีดวัคซีนของ
Sinopharm 0.46% 
Pfizer 0.15%
AstraZeneca 0.03%
ในขณะเดียวกัน เมื่อดูสถิติตัวอื่นทั้งเรื่องการติดเชื้อ การต้องนอนโรงพยาบาล และการป่วยหนักเข้าไอซียูก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด
1.เรื่องจำนวนผู้ฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไม่เท่ากัน แต่แก้ไขโดยการปรับเป็นสัดส่วนและสถิติทางระบาดวิทยาเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว
2.เริ่มฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไม่พร้อมกัน ได้แก้ไขโดยการตัดกลุ่มประชากรที่ฉีดวัคซีนบางชนิดเร็วเกินไปออก เทียบกันเฉพาะในช่วงเวลาที่ฉีดวัคซีนใกล้เคียงกัน และพบไวรัสเดลตาเหมือนกัน
รายงานนี้จึงสรุปได้ว่า
1.วัคซีนทั้ง 4 ชนิดได้ผลดีเหนือกว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีนในทุกมิติ ทั้งอัตราการติดเชื้อ การป่วยเข้าโรงพยาบาล การป่วยหนักเข้าไอซียู และการเสียชีวิต
2.วัคซีนคู่ที่เทียบกันได้ทางสถิติคือ Pfizer กับ Sinopharm พบว่า Pfizer มีประสิทธิผลเหนือกว่าทั้ง 4 มิติ
3.วัคซีนของ AstraZeneca ดูจะมีบางมิติที่เหนือกว่า Pfizer และบางมิติที่พอๆกัน แต่การเปรียบเทียบยังทำได้ไม่ชัดเจน
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามการรายงานข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโควิด-10 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-25ส.ค. 64 มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 28,835,580 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 21,669,955 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 6,596,785 ราย และผู้ที่ฉีดเข็ม 3 จำนวน 568,840 ราย