จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้วงเวลานี้มีหลายหน่วยงานเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงในหลายพื้นที่ วันนี้เรามีคำแนะนำจากกรมอนามัย เพื่อได้ลูกหลานได้เตรียมความพร้อมให้กับท่านก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนและการดูแลผู้สูงอายุหลังเข้ารับการฉีดวัคซีนแล้ว
โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงรุนแรง กลุ่มผู้สูงอายุนับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง และทางกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการได้รับบริการฉีดวัคซีนโควิดของกลุ่มผู้สูงอายุอย่างทั่วถึง พร้อมมีคำแนะนำก่อนและหลังการเข้ารับการบริการ ดังนี้
ก่อนเข้ารับบริการควรเตรียมตัวให้พร้อม
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- กินอาหารและยาให้เรียบร้อย
- วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ให้ญาติหรือลูกหลานไปด้วยอย่างน้อย 1 คน
- นำบัตรประชาชน บัตรประจำตัวผู้ป่วย และยาที่กินประจำไปด้วย
- ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันงดใช้แขนข้างที่ฉีด ไม่เกร็งและยกของหนัก
- การฉีดวัคซีนโควิด ควรห่างจากการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
- กรณีกินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้ กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
- ศึกษาและทำความเข้าใจกับการฉีดวัคซินในครั้งนี้ว่าอาจจะเกิดอาการข้างเคียงหลังรับวัคซินเพื่อสร้างความเข้าใจก่อนไปรับบริการ เช่น อาการที่พึงประสงค์และอาการไม่พึงประสงค์
หลังการฉีดวัคซีนผู้สูงอายุต้องปฏิบัติ
- นั่งพักสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที
- ดื่มน้ำมาก ๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดออกกำลังกาย ยกของหนัก และทำงานหนักอย่างน้อย 2 วัน หากพบอาการไม่พึงประสงค์ทั่วไป เช่น ปวด บวม แดงร้อน ไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คันบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องเสีย ให้รักษาตามอาการหรือรอให้อาการทุเลาลง ซึ่งส่วนมากจะหายได้เองใน 1-2 วัน หากไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล
ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ที่ควรพบแพทย์ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง เหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง มีจ้ำเลือดออกจำนวนมาก ใบหน้าเบี้ยว หรือ ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง กล้ามเนื้ออ่อนแรง และชักหรือหมดสติ ในกรณีที่รุนแรงมาก รีบแจ้ง 1669 และ 1422 ทันที
ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากผู้สูงอายุจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดแล้ว การดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุยังคงต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักปฏิบัติ 5 อ.ดังนี้
- อาหาร กินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ๆ เลี่ยงอาหารหวานหรือเค็ม เน้นอาหารที่มีโปรตีนสูงเสริมภูมิคุ้มกัน และครบ 5 หมู่ และดูสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ
- อารมณ์ อย่ารับข่าวสารมากเกินไป ให้ทำกิจกรรมที่ผู้สูงอายุชื่นชอบ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา แต่หากเกิดความเครียดและต้องการปรึกษาให้โทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323
- ออกกำลังกาย หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ หรือทำเท่าที่ทำได้ตามสภาพร่างกาย
- เอนกายพักผ่อน นอนหลักพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน
- ออกห่างสังคมนอกบ้านทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และล้างมือด้วยน้ำสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์เจลเป็นประจำ