"ติยะชัย" ชี้ปี 68 ยอดสินเชื่อใหม่ยังชะลอตัว แบงก์เข้มงวดดันทางหนี้เสีย

13 ธ.ค. 2567 | 16:40 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2567 | 16:40 น.

"ติยะชัย ชอง" หนึ่งในแม่ทัพ CIMBT ชี้ สถานการณ์ปล่อยสินเชื่อแบงก์ปี 68 ยังชะลอตัว กางแผนงานปี 68 ตั้งเป้า AUM โตกว่า 10% คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 4 หมื่นล้าน ขณะที่รายได้ธุรกิจเวลธ์โต 20% ปรับกลยุทธ์รับมือตลาดผันผวน

นายติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Wealth & Preferred Segment ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT เปิดเผยว่า ประเมินภาพรวมสินเชื่อในปี 68 มองว่ายังคงเป็นอีกปีที่ยังคงมีความท้าทาย ด้วยอัตราหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้คาดว่าหลายๆ แบงก์ยังคงให้ความสำคัญ ในการคัดเลือกการปล่อยสินเชื่ออยู่ ดังนั้นแล้วการขยายตัวของยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ในปี 68 ยังคงชะลอตัวอยู่

ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth management) ของธนาคารเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการมอบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับลูกค้า ทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ดีที่สุด ผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ครอบคลุมการวางแผนมรดกสำหรับการส่งต่อให้รุ่นถัดไป 

โดยรายได้จากการบริหารความมั่งคั่งปี 67 นี้ เติบโตกว่า 35% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี จากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน และ ปี 68 ตั้งเป้ารายได้จากการบริหารความมั่งคั่งเติบโต 20% ซึ่งในปีที่ผ่านมาการที่รายได้จากการบริหารความมั่งคั่งเติบโตเป็นผลมาจากการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์

รวมไปถึงการวางกลยุทธ์การจัดจำหน่ายสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าทั้งหมดของธนาคารเติบโตขึ้นมากกว่า 20% ตั้งแต่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีเงินลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท ไปจนถึงลูกค้า High net worth ที่มีเงินลงทุนมากกว่า 100 ล้านบาทขึ้นไป

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เงินฝากยังเป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐานสำหรับการบริหารความมั่งคั่ง โดยเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าบุคคลในช่วง 10 เดือนแรกเติบโตเกินกว่า 34% นับตั้งแต่ต้นปี สำหรับปี 68 ทางธนาคารก็ตั้งเป้าเงินฝากออมทรัพย์ของลูกค้าบุคคลเติบโต 10% โดยเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากคาดว่าดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลง 

อย่างไรก็ตาม การที่เงินฝากออมทรัพย์เติบโตในปี 67 มาจากการปรับผลิตภัณฑ์ และ ข้อเสนอตามที่ลูกค้าต้องการ เช่น CIMB Preferred Savings จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 2.2% ใน 4 เดือนแรก สำหรับลูกค้าใหม่ที่มีเงินฝากตั้งแต่ 3 ล้านบาท ถึง 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตของเงินฝากของปีนี้

อีกทั้ง ในปี 67 นี้ ยังเป็นปีแรกของความร่วมมือกับบริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) โดยรายได้จากธุรกิจประกันเติบโตขึ้นกว่า 37% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และ ปี 68 ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจประกัน 10-15%

ติยะชัย ชอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Wealth & Preferred Segment ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด(มหาชน) หรือ CIMBT

"ในปีนี้ได้รับแรงผลักดันจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการวางแผนมรดกของครอบครัว โดยคาดว่า การบริหารความคุ้มครอง และการวางแผนมรดกของครอบครัวยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตในปีหน้าเช่นกัน"

ทางด้านกลุ่มธุรกิจการลงทุนยังคงเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มลูกค้าที่ซื้อตราสารหนี้ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือของธนาคาร โดยการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกผ่านแอพพลิเคชั่นเติบโตเฉลี่ยตั้งแต่ปี 63 อยู่ที่ประมาณ 102% ต่อปี 

ในขณะที่การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองก็เติบโตได้ค่อนข้างดี เฉลี่ยอยู่ที่ 75% ต่อปี ตั้งแต่ปี 64 สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ตลาดรองช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงตราสารหนี้คุณภาพสูง (investment grade bonds) จากธนาคารทุกวันทำการ โดยไม่ต้องคำนึงถึงวันออกขายวันแรกของตราสารหนี้นั้นๆ

"ปี 68 บทบาทการบริหารความมั่งคั่งของธนาคารจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยบริหารเงินลงทุนของลูกค้าในช่วงที่ตลาดมีความซับซ้อน และ ผันผวนมากขึ้น สำหรับลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ธนาคารได้คัดสรรกองทุนรวม หุ้นกู้อนุพันธ์แฝง และ ผลิตภัณฑ์ประกันที่มีการคุ้มครองเงินต้น"

นอกเหนือจากนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารได้ร่วมมือกับ Principal Asset Management ในการออกผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะพิเศษ คุ้มครองเงินต้นสำหรับลูกค้าที่ถือกองทุนจนครบกำหนด สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการลดความเสี่ยงจากการขาดทุน ซึ่งสามารถระดมทุนได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันลูกค้าที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากขึ้น แต่ยังต้องการลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และรับรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง ทางธนาคารก็ได้มีความร่วมมือกับสถาบันการเงินระดับโลกที่มีความรู้ และประสบการณ์ในการบริหารการลงทุนทั่วโลกเพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้ามีทางเลือก และเครื่องมือสำหรับการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความผันผวนของตลาดที่จะสูงขึ้นในปี 68

อย่างไรก็ตาม ในปี 67 นี้ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) คาดเติบโต 10% จากปีก่อน จากปัจจุบันอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น เงินลงทุน 65% และ เงินฝาก 35% ซึ่งในปีหน้าตั้งเป้าเติบโต AUM มากกว่า 10% หรือ คิดเป็นเม็ดเงิน 40,000 ล้านบาท