ออมสินเฉือนกำไรปีละ 1.5 หมื่นล้าน ช่วยสังคม

19 ต.ค. 2567 | 12:42 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 12:42 น.

ออมสินประกาศ Social Impact วางเป้าช่วยสังคมปีละ 1.5 หมื่นล้าน ฉายภาพ GSB GROUP รุกธุรกิจพีโลน เปิดตัว “Good Money” ต้นเดือนพ.ย.67 ปรับสู่ดิจิทัล ลุยธุรกิจไอที สู้ศึก Virtual Bank

KEY

POINTS

  • ออมสินตั้งเป้าช่วยเหลือสังคมไม่ต่ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิด Social Impact ปี 2567 ช่วยเหลือสังคมไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท
  • ออมสินได้ตั้งสำรองหนี้ปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท คาดปี 2567 สำรองทั้งหมดแล้วทะลุ 1.37 แสนล้านบาท และสำรองส่วนเกินอยู่ที่ 73,070 ล้านบาท 
  • ช่วงต้นเดือนพ.ย.จะเปิดตัว บริษัท เงินดีดี จำกัด หรือ Good Money เพื่อให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์

 “4 ปีที่แล้ว เราได้สร้างธนาคารเพื่อสังคมขึ้นมา ทำธุรกิจเชิงพาณิชย์แล้วนำกำไรมาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม ช่วยได้หลายล้านคน และปี 2566 ได้ประกาศ Creating Shared Value : CSV นำเนื้อปัจจัยทางสังคม เข้ามาใส่ในธุรกิจของธนาคารทั้งหมด และเป้าหมายจากนี้ เราจะทำให้เกิด Social Impact เพื่อช่วยสังคมได้มากขึ้นอีก”

คำกล่าวของนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระหว่างแถลงข่าวการเดินหน้าภารกิจ CSV หลังจากธนาคาร ออมสินสามารถดำเนินภารกิจ CSV ได้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

หลังจากปลายปี 2566 รัฐบาลได้สนับสนุนธนาคาร ด้วยการปรับตัวชี้วัดไม่มุ่งเน้นเรื่องกำไรเป็นสำคัญที่สุด  ทำให้ออมสินได้ตั้งเป้าหมายช่วยเหลือสังคมไม่ต่ำกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท เพื่อทำให้เกิดโซเชียลอิมแพ็ค (Social Impact) โดยในปี 2567 นี้ เราได้ช่วยเหลือสังคมไปแล้วกว่า 20,000 ล้านบาท

“ปีที่ผ่านมา เรากำไร 33,000 ล้านบาท ผมคิดว่า เราควรทำกำไรในระดับที่เหมาะสม แล้วนำส่วนที่เหลือไปช่วยคนและสังคม ซึ่งในครึ่งแรกของปี 2567 ออมสินกำไร 18,000 ล้านบาท คาดว่า ทั้งปีจะกำไร 27,000 ล้านบาท หลังตั้งสำรองแล้ว”

สำหรับภาพรวมสถานะของแบงก์มีความแข็งแกร่ง โดยออมสินได้ตั้งสำรองหนี้ปีละ 10,000-20,000 ล้านบาท คาดทั้งปี 2567 สำรองทั้งหมดแล้วทะลุ 1.37 แสนล้านบาท และสำรองส่วนเกินอยู่ที่ 73,070 ล้านบาท จากการลดต้นทุนบริหารจัดการ บริหารต้นทุนเงิน และควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งจากจำนวนดังกล่าว จะสามารถรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้กว่า 1 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมา ออมสินได้ทำสินเชื่อต่อลมหายใจให้กับฐานราก กลุ่มที่ไม่มีเครดิต และได้เดินหน้าแก้ไขหนี้สินข้าราชการ รายย่อย ยกตัวอย่าง การยกหนี้ให้กับรายย่อย 8 แสนคน สำหรับสินเชื่อฉุกเฉินโควิด นอกจากนี้ ออมสินยังมีบทบาทในการพัฒนา สร้างอาชีพให้กับชุมชน

ที่ผ่านมา ยังได้สนับสนุนรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมทั้งยังได้ช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม ผ่านมาตรการพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

ออมสินเฉือนกำไรปีละ 1.5 หมื่นล้าน ช่วยสังคม

ขณะเดียวกัน ออมสินยังได้ดำเนินการปรับเกณฑ์ภายใน เรื่องการฟ้องล้มละลาย การฟ้องแพ่ง จากนี้จะผู้ถูกฟ้องล้มละลายยากขึ้น โดยเฉพาะผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ออมสินได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.4% ตั้งแต่ต้นปี

"แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และยังได้จัดทำการประเมิน ESG Score สำหรับบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แล้วจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง"

สำหรับการช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เราได้วางแผนธุรกิจ GSB GROUP ซึ่งในช่วงต้นเดือนพ.ย.นี้ จะมีการแถลงข่าวเปิดตัว บริษัท เงินดีดี จำกัด หรือ Good Money เพื่อให้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคล นาโนไฟแนนซ์

โดยได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจจากธปท.เรียบร้อยแล้วและยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Good Money ซึ่งอยู่ระหว่างทำระบบให้เสถียรแล้วจะเปิดให้บริการต้นปี 2568

“ธปท.ให้ใบอนุญาตเป็นนอนแบงก์ได้ สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยได้สูงถึง 25% แต่เราอาจจะปล่อยดอกเบี้ยที่ 22-25% ตามกลุ่มความเสี่ยง และเรายังได้ใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยสูงสุด 33% เราอาจจะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ย 29-32% เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่มีความเสี่ยง ไม่สามารถขอสินเชื่อจากออมสินได้ ดีกว่าเขาไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ”

ขณะที่การเดินหน้าของธปท.ที่จะเปิดธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) อนาคตออมสินจะต้องมีการปรับตัวหรือไม่ นายวิทัย กล่าวว่า เรามองว่าวัตถุประสงค์ Virtual Bank จะทำให้คนได้ใบอนุญาตปรับตัวเร็ว เกิดการพัฒนาขึ้นมากขึ้น แต่แบงก์ไม่ตาย จะทำให้เราต้องเร่งตัวเองในการทำ ฉะนั้น เราก็จะเป็นหนึ่งในแบงก์รัฐที่เร่งปรับตัวเร็วเรื่องดิจิทัล 

ทั้งนี้ Virtual Bank ที่ดำเนินธุรกิจในโลกนี้ ส่วนมากยังไม่มีใครเคยมีกำไร ซึ่งออมสินจึงไม่ได้ตัดสินใจเดินหน้าธุรกิจนี้ แต่จะปรับตัวไปสู่ดิจิทัลแทน และเรามองว่า Virtual Bank จะเป็นโอกาสสำหรับคนยังไม่มีใบอนุญาตแบงก์ เช่น กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มที่อยากได้ใบอนุญาตทำธุรกิจแบงก์ แต่ยังไม่ได้ ส่วนผู้ที่มีใบอนุญาตแบงก์อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับตัดสินใจยังไง

ขณะเดียวกัน ได้ยกระดับดิจิทัล ในเรื่องไอที โดยเปิดตัวธุรกิจ บริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ สาเหตุที่เราจัดตั้งบริษัทไอทีขึ้นมา เพื่อลดข้อครหาว่า หลบการจัดซื้อภาครัฐมาอยู่บริษัทลูก ซึ่งบริษัท จีเอสบี ไอที แมเนจเมนท์ จะเป็นที่ปรึกษาให้กับออมสิน และจะทำเรื่องเอไอ ดิจิทัล และโมบายแบงกิ้งเป็นหลัก จะทำให้ขีดความสามารถของธนาคารพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มเห็นผลในปี 2568

ทั้งนี้ ออมสินเริ่มต้นจากการไปเริ่มลงทุนในธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาด 28% เรากดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 16-18% ปล่อยกู้ช่วยประชาชนกว่า 2 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันได้สิ้นสุดการดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม หากอัตราดอกเบี้ยกลับมาที่อัตรา 25% เราพร้อมจะกลับเข้าสู่ตลาดใหม่

 ต่อมาออมสิน ได้เดินหน้าธุรกิจ บริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด เข้าไปขยายการเข้าถึงสินเชื่อเอสเอ็มอี ผ่านสินเชื่อที่ดิน และขายฝาก โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ 7-9% จากดอกเบี้ยตลาดสินเชื่อที่ดิน อยู่ระดับ 13-15% และสินเชื่อขายฝาก 30%

ล่าสุด ที่ออมสินได้เปิดตัวบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด (Air AMC) โดยโอนหนี้เสียของธนาคารไปรอบแรก 10,000 ล้านบาท คาดจะโอนได้อีกต้นปีหน้า 35,000 ล้านบาท ดูแลลูกหนี้กว่า 4 แสนบัญชี

“เราเป็นแบงก์เทียบเคียงแบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินทรัพย์ สินเชื่อ เงินฝาก และกำไร อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานะเป็นแบงก์รัฐ เรามีขอบเขตภายใต้พ.ร.บ. บางอย่างเราทำไม่ได้ เราจึงกลายเป็นแบงก์รัฐแบงก์เดียวที่ตอนนี้บริหารงานเป็นกลุ่มธุรกิจ และตอนนี้มองว่า 4 ธุรกิจลูกของธนาคารเพียงพอแล้ว”นายวิทัยกล่าวทิ้งท้าย

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567