ส่องหุ้นกู้ปิดขายเดือนมกราคม ใครขายหมด-พลาดเป้า

07 ก.พ. 2567 | 07:07 น.

สำรวจหุ้นกู้ปิดขายเดือนมกราคม 2567 พบส่วนใหญ่ยังขายได้ตามเป้าหมาย เหตุไม่ได้ออกจำนวนมาก ขณะที่มูลหนี้หุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนภายในครึ่งแรกปีนี้ หลายแห่งยังจำเป็นต้องออกหุ้นกู้และ rollover เพิ่มอีกมาก

ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 66 ต่อเนื่องให้เห็นในปีนี้ เริ่มจากต้นปีกรณีของ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หุ้นกู้ 5 รุ่น มูลหนี้  14,455 ล้านบาท ,หุ้นกู้ บจก.สยามนุวัตร (SNW) วงเงิน 160 ล้านบาท และรายล่าสุด บมจ .โกลบอล คอนซูเมอร์ (GLOCON) วงเงิน 300 ล้านบาท ต่างขอเลื่อนจ่าย แลกกับการเพิ่มดอกเบี้ย   ฯลฯสร้างกังวลต่อผู้ออกหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระและต้อง rollover

จากรายงานสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดปีนี้ประมาณ  8.9 แสนล้านบาท จำนวนนี้เป็นหุ้นกู้ Junk bond และไม่มีอันดับเครดิต รวมกันราว 1 แสนล้านบาท 

 

ส่องหุ้นกู้ปิดขายเดือนมกราคม ใครขายหมด-พลาดเป้า
 

ฐานเศรษฐกิจ  ได้รวบรวมการเสนอขายหุ้นกู้ และยอดปิดการขายในเดือนมกราคม 2567  เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อภาวะตลาดหุ้นกู้ปัจจุบัน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทผู้ออก  พบว่าส่วนใหญ่ยังขายได้ตามเป้าหมาย  ส่วนหนึ่งเพราะวงเงินที่เสนอขายไม่ได้สูงนัก  แต่ได้เตรียมเป็นกรีนชู ( หุ้นกู้สำรอง ) เผื่อแทน ขณะที่มีบางรายแจ้งยกเลิก เช่นกรณี GLOCON ยกเลิกการออกหุ้นกู้ 480 ล้านบาทไปก่อน  ให้เหตุผลว่าภาวะตลาดไม่เอื้อ   

5 อันดับหุ้นกู้ที่มียอดขายสูงสุดในเดือนมกราคม 2567 มีดังนี้

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ออกหุ้นกู้ 5 ชุด ปิดการขาย 10,500 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่เสนอขาย 7,000 ล้านบาท โดยมีหุ้นกู้สำรอง ให้ 3,500 ล้านบาท  ทั้งนี้วงเงินหุ้นกู้ทรูที่ครบกำหนดชำระภายในครึ่งแรกปีนี้มีจำนวน 7,915.5 ล้านบาท 

บมจ. เอพี (ไทยแลนด์) (AP) ออกหุ้นกู้เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ปิดการขายได้ 3,500 ล้านบาท ครบ 100%ตามจำนวนที่เสนอขาย ทั้งนี้บริษัทฯ มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน ภายในครึ่งแรกปีนี้ ราว 4,300 ล้านบาท

บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ออกหุ้นกู้ 4 ชุด ปิดการขายด้วยยอด 2,690 ล้านบาท จากวงเงินเสนอขาย 1,500 ล้านบาท พร้อมตั้งกรีนชูหรือหุ้นกู้สำรองรองรับส่วนที่ขาด  ทั้งนี้บริษัทมีหุ้นกู้ที่ครบชำระภายในครึ่งแรกปีนี้อีกประมาณ 4,587 ล้านบาท

บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) ปิดการขายเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนท่วมท้นถึง 3,500 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ออกเสนอขาย 2,500 ล้านบาท และเป็นหุ้นสำรองเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท  เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและลงทุน เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระภายในปีนี้

บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) ปิดการขาย 2,500 ล้านบาท ได้ครบ 100% ตามวงเงินที่เสนอขาย ขณะที่วงเงินต้นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในครึ่งแรกปีนี้มีจำนวนประมาณ 1,765 ล้านบาท