SME D Bank แนะเอสเอ็มอีลุย 4R เดินหน้ายั่งยืน

15 ก.พ. 2566 | 17:45 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2566 | 17:47 น.

SME D Bank ชี้เอสเอ็มอีไทยยังเปราะบาง มีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 35% เปิด 6 ความท้าทายที่ต้องเจอในอนาคต แนะลุย 4R เดินหน้าธุรกิจยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank กล่าวเสวนาเรื่อง “เอสเอ็มอียุคใหม่...เดินอย่างไร ให้ยั่งยืน” ในงานสัมมนา อนาคตประเทศไทย : SMEs จะไปทางไหน? จัดโดยสื่อในเครือเนชั่นว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หากต้องการให้ธุรกิจเติบโตหลังโควิด-19 และเพื่อเดินหน้าสู่ความยั่งยืนจะต้องมีการคิดใหม่ ปรับรูปแบบเพื่อความยั่งยืน ผ่าน 4R ได้แก่

 

นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว.

  1. Rethink เปลี่ยนความคิดใหม่ พัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า ซึ่งโควิดสอนให้มีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งภูมิปัญญาที่มีอยู่จะต้องมาคิดต่อยอด เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ และเรื่อง BCG ก็เป็นส่วนที่สำคัญให้ผู้ประกอบการนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่ม
  2. Redesign ปรับธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ต้องให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลธุรกิจที่ดี
  3. Reprocess ปรับกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพ จะต้องมีความคล่องตัว ปรับสภาพองค์กรให้สอดคล้อง รองรับบริบทของโลกที่ปรับเปลี่ยนไป จะต้องเน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดการดำเนินงาน
  4. Rebalance ปรับโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดภาระมากจนเกินไป ช่วงแรกอาจจะใช้เงินทุนส่วนตัว  หรือพิจารณาเอาผลตอบแทนที่ได้มาหมุนเวียนธุรกิจก่อน ดูแลสภาพคล่องจากเครดิตทางการค้า เลือกที่จะเช่าแทนการซื้อ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ระยะต่อไปหากต้องการขยายธุรกิจ จะต้องพิจารณาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งไม่ควรที่จะพึ่งพาเพียงสถาบันการเงินใดการเงินหนึ่ง ซึ่งเอสเอ็มอีอาจจะมีข้อดีในเรื่องความไวในการปรับตัว แต่ยังมีความเปราะบาง แหล่งเงินทุนจำกัด การบริหารธุรกิจยังไม่เป็นระบบ ซึ่งจะต้องมีการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในไทยมีมากกว่า 3 ล้านราย โดย 95% เป็นเอสเอ็มอี แต่มีสัดส่วนของจีดีพีเพียง 35% เท่านั้น สื่อให้เห็นว่าประเทศยังขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ หากต้องการผลักดันธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ต้องมีการสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง 

ทั้งนี้ ความท้าทายของเอสเอ็มอีที่จะต้องเจอในอนาคตมีอยู่ 6 เรื่อง ได้แก่

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงคราม และการท่องเที่ยว รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น จากการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค.66 อย่างไรก็ตาม ต้องดูพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่าจะมีแนวนโยบายกระตุ้นเอสเอ็มอี และดูแลฐานรากอย่างไร
  2. ภัยธรรมชาติกับการขาดแคลนทรัพยากร ซึ่งเป็นเรื่องภัยธรรมชาติยากที่จะคาดการณ์ แต่การขาดแคลนทรัพยากรเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โรงแรมมีอัตราการจองที่พักกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดโควิด แต่การรับจ้างงานกลับมา ภาคธุรกิจท่องเที่ยวยังมีปัญหาอยู่
  3. ภาวะเงินเฟ้อ คาดว่าในปี 2566 ยังอยู่ที่ระดับ 2.5-3.5% ซึ่งมีต่อต้นทุนแรงงาน ต้นทุนพลังงาน ค่าใช้จ่ายทางการเงินเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เป็นต้น
  4. สังคมสูงวัย ธุรกิจจะต้องมีการปรับตัว เนื่องจากบางธุรกิจจะมีความสำคัญมากขึ้น ขณะที่บางธุรกิจจะมีความสำคัญลดลง
  5. พฤติกรรมผู้บริโภค ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปสู่โลกยุคใหม่ (next normal) ผู้ประกอบการจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันผู้บริโภค
  6. โรคระบาด ทั้งความไม่แน่นอนของโควิด และโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีผลทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก

นอกจากนี้ หน่วยงานเศรษฐกิจทั้งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3-4% ใกล้เคียงกับระดับในปีที่ผ่านมา ที่ขยายตัวได้ 3.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.5-3.5% ซึ่งธปท.ได้กำหนดกรอบไม่ให้เกิน 3% 

โดยเครื่องยนต์หลักที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วน 50%ต่อจีดีพี และภาคการท่องเที่ยว คาดในปีนี้จะกลับมา 22-23 ล้านคน

ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังเป็นกลไกขับเคลื่อนในวงจำกัด ส่วนการลงทุนภาคเอกชนนั้น ยังเติบโตไม่มาก เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย คาดในปี 2566 ขยายตัวได้ 1.7% ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต

อย่างไรก็ดี จากการสำรวจพบว่า เอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่มีความกังวลการลงทุน การจ้างแรงงาน และเชื่อมั่นว่าการดำเนินงานจะมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวรองรับ

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเอสเอ็มอี นอกจากการจัดทำฐานข้อมูลแล้ว จากการสำรวจพบว่า ยังต้องการให้ความสำคัญการขยายตลาด นวัตกรรม เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจที่จะต้องนำไอทีมาใช้ และอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ BCG ซึ่งจะส่งดีต่อธุรกิจในระยะยาว