“วงษ์สยาม” ซัด ”ยุทธพงศ์” เล่นเกมการเมือง ชี้ประมูลโปร่งใส รัฐได้สูงสุด

22 ก.ย. 2565 | 21:02 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2565 | 04:25 น.

“วงษ์สยามฯ” ซัด ”ยุทธพงศ์” อย่างเล่นเกมการเมือง ยันประมูลท่อส่งน้ำอีอีซีโปร่งใส ชี้ยื้อเวลาชะลอเซ็นสัญญาบริหารท่อส่งน้ำในอีอีซี ทำให้รัฐเสียหายหนัก 500 ล้านต่อปี ฉะ “อีสท์วอเตอร์” จ่ายส่วนแบ่งรัฐ 1% ขณะที่ “วงษ์สยาม” จ่ายให้ 27%

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้ได้รับสิทธิบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ( อีอีซี) ให้สัมภาษณ์กรณีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ระบุมีคนสั่งการเร่งรัดลงนามสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี และทำหนังสือถึงรักษาการนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และปลัดกระทรวงการคลัง ให้ชะลอการลงนามสัญญา อ้างรัฐจะเสียหายนั้น

โดยระบุว่า การประมูลโครงการนี้เป็นไปตามขั้นตอน และระเบียบราชการ อย่างโปร่งใส ชัดเจน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ให้ระงับการลงนามสัญญาโครงการเป็นการฉุกเฉิน ไว้ชั่วคราว ก่อนพิพากษา หรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีดังกล่าว ดังนั้นจึงเลื่อนการลงนามสัญญาโครงการออกไปก่อน

ต่อมาบริษัทฯ ได้อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองกลาง บัดนี้ปรากฏข้อเท็จจริงแล้วว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ดังนั้นจึงมีเหตุอันชอบธรรมตามกฎหมาย ที่กรมธนารักษ์ จะจัดให้ลงนามในสัญญาโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี ต่อไปได้

 

นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า เพื่อมิให้เกิดการทอดเวลาในการลงนามสัญญาออกไป ซึ่งจะไม่เป็นไปตามแผนกรอบเวลา ที่กรมธนารักษ์กำหนด เพราะถ้าหากไม่เป็นไปตามระยะเวลาจะทำให้รัฐเสียหายอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน คิดค่าเสียหายจากการไม่ได้รับผลตอบแทนรายปี ปีที่ 1 จำนวน 122,313.30 บาท ต่อวัน

 

และความเสียหายจากการไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้รายปี   ปีที่ 1 คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 1,228,657.53 บาท ต่อวัน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 1,549,600.98 บาท ต่อวัน หรือคิดเป็นค่าเสียหายรวมทั้งสิ้นจำนวน 46,488,029.26 บาท ต่อเดือน หรือ 565,604,356.00 บาท ต่อปี

 

นายอนุฤทธิ์ กล่าวว่า หากกรมธนารักษ์ยังให้ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปโดยจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิม อาจจะมีข้อครหาจากประเด็นดังกล่าวได้ว่าเป็นการให้ใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่หน่วยงานรัฐและเอื้อประโยชน์ต่ออีสท์วอเตอร์ซึ่งเป็นผู้แพ้ประมูล

 

“บริษัทฯเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารโครงการนี้ โดยทางกรมธนารักษ์ มีหนังสือแจ้งกำหนดวันลงนาม และให้บริษัทเพื่อชำระตามสัญญา 2 ครั้ง ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการครบถ้วนทุกประการ หากนับระยะเวลาตั้งแต่ วันที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 จนถึงวันนี้

 

บริษัทได้รับผลกระทบอย่างมาก หากไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กรมธนารักษ์กำหนดจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ จนไม่อาจเยียวยาได้ ดังนั้นขอย้ำอีกครั้งว่าไม่มีใครที่ไปสั่งการ เร่งรัดลงนามสัญญา แต่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องชอบธรรมและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว” นายอนุฤทธิ์กล่าว

 

นายอนุฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้ผู้กล่าวโจมตีโครงการนี้ ใช้สติในการพิจารณา ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมากขึ้น เพราะสัญญาใหม่นี้ วงษ์สยามจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐ 27% ต่อปี ขณะที่สัญญาเดิม อีสท์วอเตอร์จ่ายให้รัฐเพียง 1% ต่อปี