ลุ้น ประชุมกนง. 10 ส.ค. 'จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทย'

08 ส.ค. 2565 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2565 | 20:40 น.
1.5 k

ลุ้น! ผลการประชุม กนง. 10 ส.ค.จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย ขณะ กูรูเศรษฐศาสตร์ ฟันธง จบยุค 'ดอกเบี้ยต่ำ' กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แก้โซ่ตรวน 'แนวโน้มเงินเฟ้อ' ผลดีคนฝากเงิน ขณะคนกู้เงิน เตรียมทำใจ

8 ส.ค.2565 - นับถอยหลังเหลือเวลาอีกแค่ 2 วันเท่านั้น สำหรับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ครั้งสำคัญ ต่อการพิจารณา ปรับ 'อัตราดอกเบี้ยนโยบาย' ซึ่งคาดกันว่า ด้วยแรงกดดันจากส่วนต่างดอกเบี้ยของหลายประเทศทั่วโลก ปัญหาเงินบาทอ่อนค่า และ แนวโน้ม 'เงินเฟ้อ' จะบีบให้ กนง.ตัดสินปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายราว 0.25%ในครั้งนี้

 

ล่าสุด ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของไทย วิเคราะห์ในประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย ผ่านบทความ ' ท่องเศรษฐกิจกับดรกอบ ' ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ดังใจความดังนี้...

จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทย !

สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทยยุคดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน ที่เกิดขึ้นมาหลายปี ก็จะจบยุคเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติที่ผู้ฝากเงิน (โดยเฉพาะผู้เกษียณอายุ กินดอก) จะเริ่มยิ้มได้ 

ลุ้น ประชุมกนง. 10 ส.ค. \'จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทย\'

ส่วนผู้กู้ยืม ต้องเริ่มบริหารต้นทุนด้านการเงิน ต้องระมัดระวังในการสร้างหนี้ เพราะหนทางข้างหน้าจะท้าทายขึ้น ภาระหนี้ของทุกคนจะเริ่มเพิ่มขึ้นทำให้ช่วงสบายๆ ของ CFOs สิ้นสุดลง

ส่วนดอกเบี้ยไทยจะขึ้นเท่าไร ไปจบลงที่ตรงจุดไหน ในช่วงต่อไปนั้น ก็คงต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจ โดยมีปัจจัยหลักที่จะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดดอกเบี้ยต่อไปคือ "แนวโน้มของเงินเฟ้อ"ที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต้องแข่งกันปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก ก็เพราะเงินเฟ้อ

สำหรับไทยในช่วงต่อไป ก็เช่นกัน ภาระดอกเบี้ยของทุกคนจะเพิ่มแค่ไหน จะขึ้นกับว่า เงินเฟ้อทำตัวดีแค่ไหนในประเด็นนี้ ต้องถือว่าเป็น "ข่าวดี" ที่ไทยกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงเงินเฟ้อกำลังแผ่วลงบ้าง


เดือนล่าสุด (กรกฏาคม) เป็นครั้งแรกของปี ที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเคยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ากังวลใจจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เฉลี่ยเดือนละ +0.9% มาตลอดเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เงินเฟ้อไทยเดือนนี้ก็ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ +7.61% จาก +7.66% ในเดือนก่อนหน้าแม้จะลดลงเพียงนิดเดียว แต่ก็ยังน่าดีใจเพราะภาพจำของทุกคนสำหรับครึ่งแรกของปีคือ เงินเฟ้อพุ่งทะยาน สูงแล้ว สูงอีก ไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน
ลุ้น ประชุมกนง. 10 ส.ค. \'จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทย\'

แต่เดือนนี้ มีข่าวดีเล็กๆ เรื่องราคาสินค้าต่างๆ พร้อมกันหลายจุด โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

  • เงินเฟ้อทั่วไป -0.16%
  • ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) -1.3%
  • ดัชนีราคาก่อสร้าง -0.7%


จะมีก็เพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังบวกเพิ่มอีก +0.5% จากการที่ราคาของสินค้าต่างๆ เริ่มปรับตัวขึ้น จากราคาหมวดพลังงาน และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา
 

หากเราไปดูรายละเอียดขององค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ จะพบว่า ที่ดีขึ้น คือ หมวดที่ไม่ใช่อาหาร +7.6% ลดลงจาก +8.5%

  • พลังงาน +33.8% ลดลงจาก +40.0%
  • พาหนะการขนส่ง +10.2% ลดลงจาก 14.8%


สะท้อนราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนหมวดที่แย่ลง ก็คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล +8.0% เพิ่มขึ้นจาก +6.4%

  • เนื้อสัตว์ เป็นไก่ สัตว์น้ำ +13.7% จาก 13.0%
  •  ผัก ผลไม้ +5.8% จาก 0.4%
  • อาหารบริโภค-ในบ้าน +8.7% จาก +7.3%
  • อาหารบริโภค-นอกบ้าน +8.4% จาก 6.5%


สะท้อนถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ที่กดดันให้ทุกคนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าต่างๆ เพื่อส่งผ่านภาระบางส่วนให้แก่ผู้บริโภค 


อย่างไรก็ตา่ม การที่จะวิเคราะห์แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เราต้องเข้าใจว่า สำหรับธนาคารกลางประเทศต่างๆ แล้ว ที่สำคัญไปยิ่งกว่าเงินเฟ้อเดือนล่าสุด ก็คือ "แนวโน้ม หรือ outlook" ในระยะต่อไป ของเงินเฟ้อ เพราะฝันร้ายที่สุดของธนาคารกลาง ก็คือ เอา "เงินเฟ้อในระยะยาว" ไม่อยู่


ซึ่งในประเด็นนี้ จะเอาอยู่ ไม่อยู่ มีปัจจัยสำคัญประมาณ 4 เรื่อง ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะปัจจัยเหล่านี้จะกำหนดแนวโน้มของเงินเฟ้อในในช่วงต่อไป

  1. ราคาน้ำมันโลก
  2. ราคาCommodities โลก โดยเฉพาะหมวดโลหะ อาหาร
  3. ค่าเงิน เพราะเรานำเข้าวัตถุดิบและสินค้า
  4. ราคาค่าจ้าง โดยเฉพาะราคาค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือน



สำหรับสี่ปัจจัยหลักนี้ เราเริ่มเห็น ราคาน้ำมันโลก ราคาโลหะโลก ราคาอาหารบางชนิดเริ่มดีขึ้น (จากความกลัว Global Recessions) ทำให้เงินเฟ้อของไทยเริ่มนิ่งขึ้นเช่นกัน


ค่าเงินบาทที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้าง ก็ช่วยเช่นกันซึ่งหากราคาน้ำมันและ Commodities โลกอยู่ในระดับนี้ต่อไป เงินเฟ้อไทยก็น่าจะเริ่มลดลงในช่วงปลายปีแล้วจะถูกกระทบอีกครั้ง จากการปรับขึ้นราคาค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ลูกจ้างอยู่ได้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็น่าจะบริหารจัดการได้ 
 

ทั้งหมดนี้ การที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยปรับตัวดีขึ้น ไม่พุ่งทะยาน ลดลงเล็กน้อย และมีแนวโน้มลดลงในช่วงต่อไป จะช่วยให้การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติสามารถทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ สามารถคอยดูสถานการณ์ ไม่ต้องเร่งร้อน ถูกกดดันเหมือนกับเฟด หรือธนาคารกลางประเทศอื่นๆ