กนง.ขึ้นดอกเบี้ยช้า กดบาทอ่อนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์

02 ส.ค. 2565 | 18:44 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 01:44 น.
721

ตลาดเงินประเมินแนวโน้มเงินบาท ไตรมาส 3 มีโอกาสทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผลนโยบายการเงินไทยช้ากว่าสหรัฐ ชี้หากสัญญาณเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวลื่นไหล ปลายปีอาจเห็น บาทแข็งกลับมาแตะ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้หลังครึ่งปีแรกอ่อนค่าแล้ว 8.79%

เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงหนุนที่ภาวะตลาดปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่สภาวะถดถอย (Recession) รวมถึงแรงกดดันต่อเงินยูโร (EUR) จากปัญหาวิกฤติพลังงาน ส่งผลให้เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอ่อนค่าและอาจลงไปทดสอบโซนแนวต้านใกล้ระดับ 36.80 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ยูโอบี (ประเทศไทย)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเงินบาทในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ด้วย 2 ปัจจัยหลักคือ การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)และการปรับขึ้นของราคานํ้ามัน

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒมนาผลิตภัณฑ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ยูโอบี (ประเทศไทย)

ทั้งนี้ทิศทางเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่วนหนึ่งมาจากขนาดและทิศทางของเฟดที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าและมีความถี่ในการประชุมมากกว่าไทย ซึ่งจะหนุนสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่โอกาสเงินบาทจะแข็งค่าจากการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นกับจังหวะของการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่อาจชะลอและปัญหาเงินเฟ้อ

กนง.ขึ้นดอกเบี้ยช้า กดบาทอ่อนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นดอกเบี้ยในทิศทางเดียวกับสกุลเงินหลักอาจช่วยลดความผันผวนของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยมองระยะกลางถึงระยะยาว เงินบาทอาจจะไม่อ่อนค่ามากกว่านี้ ส่วนปัจจัยราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลจากรัสเซียอาจจะใช้นโยบายจำกัดการผลิตน้ำมันช่วงเข้าสู่หน้าหนาว

 

“เงินบาทอาจอ่อนค่า 37.25 บาทมีโอกาสเกิดได้ครึ่งปีหลัง แต่ระยะยาวมีโอกาสค่อยๆแข็งค่ากลับมาได้ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 36 บาทได้เมื่อดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง แต่ถ้าสหรัฐเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในปี 2566 เฟดอาจจะหยุดขึ้นหรือลดดอกเบี้ยลงได้ ดังนั้นอาจจะเห็นดอกเบี้ยเฟดปรับลดลงอัตโนมัติ”นายจิติพลกล่าว

 

ทั้งนี้เนื่องจากพลังของการขยับนโยบายการเงินไม่เท่ากัน อย่างเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.75-1.00% ขณะที่มุมมองต่อการประชุมของ กนง.ในวันที่ 10 ส.ค. 2565 ยังทายใจว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

 

“หากกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ข้อดีคือ จะช่วยกระตุกบาทอ่อนได้ชั่วคราว จากนั้นค่อยไปดูว่าอัตราเงินเฟ้อสูงสุดตามคาดการณ์หรือไม่ และการขึ้นดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจะดึงความเชื่อมั่นของตลาดได้หรือไม่ แต่หากเศรษฐกิจจะแย่ลงก็สามารถจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาได้”นายจิติพลกล่าว 

 

สำหรับเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) นั้น ในอนาคต 3-6 เดือนข้างหน้า มีโอกาสลุ้นเงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นอานิสงส์จากธีมเปิดเมือง เป็นโอกาสจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมา ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐปั่นป่วนจากภาพรวมของเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตลาดพันธบัตรไทยแนวโน้มเงินทุนไหลเข้าไม่มาก เพราะดอกเบี้ยไม่จูงใจ

 

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย ธนชาตหรือทีทีบี (ttb analytics) ทิศทางค่าเงินบาทยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากปัจจัยดอกเบี้ยโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นและปัจจัยในประเทศยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัด มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาททะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 3 และจะพลิกกลับมาปิดปลายปีได้ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์

นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย ธนชาตหรือทีทีบี (ttb analytics)

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์ วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มช่วงที่เหลือยังมีแรงกดดันด้านบาทอ่อนค่าได้ เพราะจังหวะการปรับนโยบายการเงินของไทยยังช้ากว่าเฟด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เงินบาทอ่อนค่าในระยะใกล้ ส่วนปลายปีหากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดขึ้น แรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจจะน้อยลง โดยธนาคารกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงปลายปี 2565 จะเห็นเงินบาทฟื้นตัวกลับมาที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัทศูนย์ วิจัยกสิกรไทย

“จังหวะเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบวันที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งดอกเบี้ยเฟด 0.75% เป็นอย่างน้อย ส่วนดอกเบี้ยนโยบายของไทย แม้จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบเดือนสิงหาคมนี้ แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังมีส่วนต่าง ทั้งจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่มีสัญญาณดีในวงกว้างและการปรับขึ้นดอกเบี้ยไทยช้ากว่าเฟดที่มีรอบการประชุมมากกว่าด้วย” นางสาวกาญจนากล่าว

 

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ระหว่างที่จังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่สอดคล้องกันนั้น ในแง่ของผู้นำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินผันผวน เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่ต้องเผชิญ รวมถึงต้นทุนนำเข้าที่แพงขึ้น ปัญหาซัพพลายเชน หรือขาดแคลนวัตถุดิบยังคงมีต่อ

 

“ภายใต้ความผันผวนนี้ ผู้นำเข้าสามารถปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนบางส่วนหรือทยอยทำก็ได้ ทั้งการซื้อดอลลาร์ล่วงหน้า (Forward) และซื้อ-ขายดอลลาร์ล่วงหน้าในระดับราคาที่กำหนดไว้ในสัญญา(option) ดีกว่าที่จะไม่ทำอะไร”

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,805 วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565