ค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 36.12 บาท/ดอลลาร์

02 ส.ค. 2565 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ส.ค. 2565 | 16:51 น.

ค่าเงินบาท ในระยะสั้นนี้แนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเห็นผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึง บริษัท MNC ญี่ปุ่นทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์/เงินเยนญี่ปุ่นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ด้านผู้ส่งออกรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 36.40 บาท

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.12 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 36.08 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่านวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ภาวะตลาดการเงินที่กลับมาระมัดระวังตัวมากขึ้น อาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง โดยเฉพาะในกรณีที่ นักลงทุนต่างชาติบางส่วนทยอยขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของหุ้นไทยบ้าง

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่ได้อ่อนค่าไปมาก เพราะเงินดอลลาร์ก็ขาดปัจจัยหนุนที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ

 

 ในระยะสั้นนี้ โซนแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในช่วง 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราเห็นผู้นำเข้าบางส่วน รวมถึง บริษัท MNC ญี่ปุ่นทยอยเข้ามาซื้อเงินดอลลาร์หรือเงินเยนญี่ปุ่นบ้างในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้ส่งออกยังไม่รีบกลับมาขายเงินดอลลาร์และส่วนใหญ่ต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วง 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้โซนดังกล่าวพอจะเป็นแนวต้านในช่วงนี้ได้

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.20 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักอาจชะลอตัวลงมากขึ้น หลังจากล่าสุด ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) เดือนกรกฎาคม ของทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สะท้อนภาพการชะลอตัวมากขึ้นของภาคการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งแนวโน้มการชะลอตัวของภาคการผลิตดังกล่าวยังได้ส่งผลให้

 

ผู้เล่นในตลาดบางส่วนกังวลว่าความต้องการใช้พลังงานอาจลดลงตาม กดดันให้ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเกือบ -5% และยังส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวลดลง โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28% ตามแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงานด้วยเช่นกัน (Exxon Mobil -2.5%, Chevron -2.0%)

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาย่อตัวลง -0.19% ท่ามกลางแรงกดดันจากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Equinor -2.9%, BP -1.9%) รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลงหนัก หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ยอดค้าปลีกของเยอรมนี (Retail Sales) ในเดือนมิถุนายน หดตัวถึง -1.6% จากเดือนก่อนหน้า สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวราว +0.2%

 

ทางด้านตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการชะลอตัวลงหนักของบรรดาเศรษฐกิจหลัก รวมถึงมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่คาดว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงและอาจเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมเดือนมีนาคม (โอกาสราว 40%) ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 2.57% ซึ่งเราคาดว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสกลับมาผันผวนและปรับตัวขึ้นได้บ้าง

 

โดยเฉพาะในช่วงใกล้รายงานข้อมูลเงินเฟ้อใหม่ของสหรัฐฯ เนื่องจากเฟดได้ย้ำชัดเจนว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจนโยบายการเงิน ซึ่งหากเงินเฟ้อไม่ได้ชะลอลงชัดเจนหรือเร่งตัวขึ้น เฟดก็อาจไม่สามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยได้ 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 105.4 จุด กดดันโดยแนวโน้มการชะลอตัวลงที่ชัดเจนมากขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงมุมมองของผู้เล่นบางส่วนที่คาดว่าเฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงมาบ้าง และช่วยหนุนให้ราคาทองคำยังสามารถยืนเหนือระดับ 1,788 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็ทยอยเข้ามาขายทำกำไรการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำบ้าง ทำให้ราคาทองคำยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านได้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศในสัปดาห์นี้ โดยจะเริ่มจาก ยอดเปิดรับงานใหม่ (Job Openings) ที่ตลาดคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงราว 11 ล้านตำแหน่ง และมากกว่าจำนวนผู้ว่างงานเกือบ 1.9 เท่า สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่ตึงตัวมาก นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและการปรับนโยบายการเงิน หลังจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะตัดสินใจเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 1.85% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 36.10-36.12 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.45 น.) หลังเปิดตลาดช่วงเช้าวันนี้ที่ระดับประมาณ 36.13 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทยังมีแรงหนุนต่อเนื่องบางส่วน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบจากตัวเลขภาคการผลิตที่น่าผิดหวัง โดยทั้งดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี (แม้ว่า ค่าดัชนีจะยังอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งสะท้อนว่ากิจกรรมภาคการผลิตจะยังขยายตัวอยู่ก็ตาม) 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 35.90-36.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ  ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมิ.ย.ของสหรัฐฯ