ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-เทศ ดึงเงินทุนไหลออก กดบาทอ่อนค่า

13 ก.ค. 2565 | 10:19 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2565 | 17:19 น.

ตลาดกดดันกนง. ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 10 ส.ค. หวังสกัดเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น รักษาส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายไทย-เทศ หลังธนาคารกลางประเทศทั่วโลกแห่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลเงินทุนไหลออก แห่ซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลค่าเงินสกุลต่างๆทั้วโลกอ่อนค่า

อัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเกิน 7% ในเดือนมิถุยายน 2565 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองและทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ท่ามกลางการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในอัตราที่มากกว่าและเร็วกว่าที่ตลาดคาดของธนาคารกลางทั่วโลก ส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 4 ของปีในวันที่  10 สิงหาคม เป็นที่จับตาและคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%

 

จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ธนาคารกลางของประเทศที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นแล้วคือ สหรัฐอเมริกา 1.5%  นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแคนาดา 1.25% อังกฤษ 1% และเกาหลีใต้ 0.75% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ หลายธนาคารกลางปรับขึ้นครั้งละ 0.5-0.75% มากกว่าปกติที่ปรับขึ้นลงครั้งละ 0.25% จากความกังวลว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าไป จะทำให้เงินเฟ้อค้างสูงเป็นเวลานาน ซึ่งจะทำให้การแก้ปัญหาเงินเฟ้อยากขึ้น

แรงกดดันต่อกนง.จึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะรู้ดีว่า การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อในครั้งนี้มาจากภาคอุปทานเป็นหลัก (Cost-push) ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเสถียรภาพด้านราคา ก็เพื่อหวังผลชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากภาคอุปสงค์(Demand-pull)

 

ล่าสุดนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกมาระบุว่า การดูแลเงินเฟ้อถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและธปท. แต่การดูแลเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนั้น จะขึ้นดอกเบี้ยในยามจำเป็นและต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะ บริบทเศรฐกิจประเทศพัฒนาแล้วต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว เร็ว แรง และอยู่ในช่วงหนึ่งของเศรษฐกิจ over heat ขณะที่เศรษฐกิจไทยถือว่า เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

“โจทย์ของต่างชาติคือ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้เศรษฐกิจ soft landing แต่โจทย์ของเราคือ ทำให้การฟื้นตัวมันไปได้ต่อเนื่อ เป็นเรื่อง Smooth take off ให้ take off ได้อย่างไม่สะดุด ดังนั้นนโยบายการเงินทางฝั่งดอกเบี้ย ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โจทย์เราคือ การถอนคันเร่ง ไม่ใช่แบบที่เห็นในเมืองนอกที่ต้องเหยียบเบรกแรง”นายเศรษฐพุฒิกล่าว

 

แรงกดดันอีกทางที่ต้องการให้กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ใช่แค่ การสกัดเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังต้องการสกัดการไหลออกของเงินทุนระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนจากตัวเลขในตลาดตราสารหนี้จากแต่ต้นปี 2565 ถึง 11 กรกฎาคม 2565 พบว่า มีเงินไหลออกสุทธิจากตลาดตราสารหนี้ไทย 2.75 พันล้านบาทเทียบกับปี 2564 ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 1.42 แสนล้านบาท ขณะที่ในตลาดหุ้นไทย นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิสะสม 1.15 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ซื้อสุทธิเพียง 5.06 หมื่นล้านบาท

ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-เทศ ดึงเงินทุนไหลออก กดบาทอ่อนค่า

เงินทุนระยะสั้นที่ไหลออก ส่วนหนึ่งจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง มีเป้าหมายหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทำให้ดอกเบี้ยเฟดล่าสุดอยู่ที่ 0.50-1.75% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.50% ซึ่งเป็นอัตราคงที่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

นักลงทุนยังคาดการณ์ว่า เฟดมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 1.00% ในการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในเดือนกรกฎาคมนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่แข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยหนุนให้เงินดอลลาร์ยังแข็งค่าต่อไป หลังจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากการแห่ซื้อของนักลงทุนในฐานะที่ดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลว่า เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจ

 

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องกดดันต่อค่าเงินในสกุลอื่นๆ ทั่วโลกที่ล้วนอ่อนค่าลงทั้งนั้น  โดยที่อ่อนค่ามากสุดน่าจะเป็นเยน ญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงถึง 16.1% รองลงมาเป็นปอนด์สเตอร์ลิง อ่อนค่าลง 11.4%  และยูโรที่อ่อนค่าลง 10.8% ใกล้แตะระดับ 1 ดอลลาร์ต่อ 1 ยูโร

 

ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยที่อ่อนค่าประมาณ 7.6% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี มากที่สุดในรอบ 7 ปีทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ จนก่อให้เกิดความกังวลที่จะทำให้เกิดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไปซ้ำเติมกับการขาดดุลงบประมาณกลายเป็นขาดดุลแฝด ซึ่งจะเป็นหนึ่งในปัจจัยฝันร้ายที่จะทำให้เงินบาทต้องอ่อนค่ายาวและสะท้อนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมีความแข็งแกร่งน้อยลง

 

หน้า  8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,800 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2565