กูรูชี้ ‘เงินเฟ้อ’ วิ่งต่อถึงปีหน้า หลังพุ่งสูงสุดรอบ 14 ปี

08 มิ.ย. 2565 | 18:14 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มิ.ย. 2565 | 17:48 น.

กูรูจับตา “เงินเฟ้อ” อาจดึงไม่ลงในปีนี้ หลังเดือนพ.ค.พุ่งสูง 7.1% ห่วงฉุดบริโภคเอกชน ลุ้นอัพไซด์จากจำนวนนักท่องเที่ยวและภาคบริการ ประสานเสียงกนง.มติเอกฉันท์ คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% พร้อมปรับลดจีดีพี

กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลข อัตราเงินเฟ้อ ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ขยับสูงขึ้นที่ระดับ 106.62 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 99.55 เพิ่มขึ้นถึง 7.1% สูงสุดในรอบเกือบ 14 ปี ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ประเมินไว้ที่อัตรากว่า 5% ใน ช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย

 

รวมถึงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปีนี้ จะขยายตัว 3.2% ขณะที่มองอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 4.9% ก่อนจะปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายปี 2566 บนสมติฐานจีดีพีกลับมาขยายตัวได้ 4.4% ทำให้การประชุมกนง. ครั้งที่ 3 ของปีในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ถูกจับตามองอีกครั้ง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เชื่อว่า กนง.ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ซึ่งต่างจากสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นแรง จึงต้องติดตามทิศทางจาก กนง.ว่า จะส่งสัญญาณอย่างไร

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี

 

อย่างไรก็ตาม แม้กนง.จะปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ แต่ในส่วนของภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอีต่างเจอภาวะทางการเงินที่สูงขึ้น ซึ่ง การประชุมกนง.รอบนี้ มีโอกาสที่กนง.จะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.2% ต่อปี ซึ่งต้องจับตา แต่เชื่อว่า จะยังคงดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรอให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก่อน

 

 

นายนริศกล่าวว่า ในมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น เนื่องจากขณะนี้ยังมีทั้งปัจจัยส่งจากการเปิดเมืองและปัจจัยถ่วงจากผลกระทบราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เห็นได้จากเดือนพฤษภาคม ทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มแตะ 7.1% และ 2.28% โดยเริ่มเห็นเงินเฟ้อพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นมา ซึ่งแนวโน้ม จะเป็นตัวถ่วงการบริโภคภาคเอกชนได้

กูรูชี้  ‘เงินเฟ้อ’ วิ่งต่อถึงปีหน้า หลังพุ่งสูงสุดรอบ 14 ปี

ส่วนช่วงที่เหลือของปี จำนวนนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ แต่ขึ้นกับว่า แนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนหรือภาคการส่งออกจะชะลอลงแค่ไหน เพราะสัญญาณการส่งออกไปประเทศหลัก เริ่มชะลอตัวและการลงทุนภาครัฐจะต่อเนื่องแค่ไหน

 

ทั้งนี้ ttb analytics มอง 3 ปัจจัยในการปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเหลือขยายตัวเพียง 2.8% คือ ปรับลดคาดการณ์การส่งออกที่อาจเติบโตอย่างมากไม่เกิน 7% การบริโภคเอกชนเหลือ 3.2% และการลงทุนภาครัฐ 2.7% ซึ่งขึ้นกับความต่อเนื่องนโยบายการลงทุนของภาครัฐด้วย

 

สอดคล้องกับนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย  Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มชะลอตัวลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จากที่มีสัญญาณบวกมาต่อเนื่อง ดังนั้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนน่าจะเห็นภาคส่งออกของไทยชะลอตัวลง จากก่อนหน้าที่เคยขยายตัวได้มากกว่า 10%

ายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย  Krungthai COMPASS ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ขณะเดียวกันค่าครองชีพและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อาจไม่สามารถดึงเงินเฟ้อให้ปรับลดลงในปีนี้ได้ ซึ่งนักวิเคระห์ส่วนใหญ่มองราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระยะสูงในปีหน้า โดยราคายังแตะที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่ 32 บาทต่อลิตรนั้น เป็นราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง แม้จะเป็นไปตามสูตรรัฐบาลที่่ร่วมจ่ายคนละครึ่ง  แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถปิดส่วนต่างนี้ได้ เนื่องจากดีเซลเป็นต้นทุนของทุกอย่าง ซึ่งราคาที่ปรับสูงจะคงอยู่อีกนาน

 

“ตอนนี้มองว่า ภาคบริการและจำนวนนักท่องเที่ยวคงจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่แผ่วลงและสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ย ทำให้กรุงไทยคอมพาส ยังคงยืนประมาณการจีดีพีปีนี้ไว้ที่ 3% แต่หากทางการจีนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว อาจมีตัวเลข surprise บ้านเรา ซึ่งถ้าจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงที่เหลือไม่แผ่วลง ก็มีโอกาสที่เราจะปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีใหม่” นายพชรพจน์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,790 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565