“อาคม” ลดภาษีดีเซล 5 บาท มั่นใจไม่กระทบปิดหีบรายได้ปีงบ 65

17 พ.ค. 2565 | 14:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 21:38 น.

“อาคม” เผยลดภาษีดีเซล 5 บาท 2 เดือน กระทบรายได้รัฐหายเกือบ 2 หมื่นล้าน ชี้ไม่กระทบปิดหีบรายได้ปีงบ 65 มั่นใจทั้งปีเก็บรายได้ตามเป้า 2.4 ล้านล้านบาท พร้อมย้ำยังไม่มีการเสนอ “คนละครึ่งเฟส5”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้ปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จาก 5.99 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. – 20 ก.ค. 65

 

เพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 110 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวจะทำให้รายได้ของรัฐหายไปเฉลี่ยเดือนละ 9,911 ล้านบาท หรือ รวมประมาณ 19,822 ล้านบาท

นายอาคม กล่าวอีกว่า รายได้ที่หายไปจากการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงนั้น จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบ 65 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 6 เดือนของปีงบประมาณ 65 (ตุลาคม 64 - มีนาคม 65) สามารถจัดเก็บรายได้รวมเกินเป้าหมายประมาณ 68,890 ล้านบาท

 

ซึ่งอัตราภาษีดีเซลที่ลดลง 5 บาท/ลิตรนั้น ยังมีส่วนต่างภาษีที่ยังเหลืออยู่แม้จะไม่มาก แต่คลังยังสามารถบริหารจัดการในช่วง 2 เดือนที่มีมาตรการได้ ส่วนหลังจากนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

“รายได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาทที่หายไป ยังอยู่ในวิสัยที่กระทรวงคลังยังบริหารจัดการได้ เพราะช่วงที่ผ่านมา รายได้บางส่วน เช่น ในส่วนของกรมสรรพากร ก็สามารถจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายและสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน แต่รายได้บางส่วนก็อาจจะลดลง เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการลดหย่อยภาษี ซึ่งรวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรด้วย” นายอาคม กล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายอาคม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของอัตราภาษีดีเซลที่กระทรวงการคลังทำการปรับลดลงให้ 5 บาทต่อลิตรนั้น ทางกระทรวงพลังงานจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. เพื่อบริหารจัดการอีกครั้ง ซึ่งในการลดภาษีดีเซล 3 บาทที่ผ่านมา ทาง กบน. ก็ได้แบ่งเงิน 1 บาทใส่กองทุนน้ำมันฯ เพื่อเสริมสภาพคล่อง เพราะขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ ยังคงมีสถานะติดลบ ขณะที่ในส่วนของน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้นโยบายยังคงปล่อยลอยตัว

 

ขณะที่เงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้คงเหลือประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทนั้น จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ในการพิจารณาใช้จ่ายเงิน ซึ่งมีโครงการต่างๆ ที่ได้เสนอขอใช้เงินไปแล้ว

 

โดยในส่วนของกระทรวงการคลัง ยังไม่มีการเสนอโครงการบรรเทาผลกระทบใดๆ เข้าไป รวมถึงโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เนื่องจากยังต้องรอติดตามสถานการณ์การบริโภคในประเทศ และเศรษฐกิจอีกครั้ง ที่ขณะนี้หลายๆ ประเทศเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น ยกเว้นจีนที่ยังคงล็อกดาวน์ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าบ้าง

 

ขณะเดียวกันตัวเลข GDP ของไทย แม้จะมีการปรับประมาณการลดลง แต่ก็ยังเป็นบวก สะท้อนสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งยังต้องรอติดตามการประชุม ศบค. ในวันศุกร์ที่ 20 พ.ค.นี้ ว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายออกมาเพิ่มเติมอย่างไร เพราะจะส่งผลดีต่อตัวเลขภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายที่ 7 ล้านคนในปี 65 ก็จะส่งผลดีไปถึงการบริการ และภาคการผลิตด้วย