"หนี้สาธารณะใช้ผิดทาง"อดีตขุนคลัง ติงรัฐอย่าทำเป็นแต่เรื่องใช้เงิน

19 เม.ย. 2565 | 10:59 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2565 | 18:05 น.

อดีตขุนคลัง"ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" ตั้ง 7 ข้อสังเกตุ การสร้างหนี้ของรัฐบาล กู้มาเพื่อกระตุ้นการบริโภค ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพการทำงาน ติงอย่าทำเป็นแต่เรื่องใช้เงิน แต่หาเงินไม่เป็น ห่วงดอกเบี้ยขาขึ้นซ้ำเติมภาระหนี้ ไม่ต่างกับมะเร็งร้ายลาม

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุกส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala " ตั้งข้อสังเกตุ 7 ประการถึงการสร้างหนี้ของรัฐบาล "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า ส่วนใหญ่ใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอุปโภคบริโภคเพื่อซื้อตัวเลขจีดีพี ไม่ได้สร้างประสิทธิภาพความยั่งยืน  พร้อมแสดงความกังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นว่าจะเป็นมะเร็งร้ายพอกพูนหนี้  ในขณะที่แผนชำระหนี้เงินกู้ ไม่พ้นวังวน"กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า " โดยระบุข้อความดังนี้...

 

พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้เขียนบทความที่ดีมาก เตือนเกี่ยวกับหนี้สาธารณะ  เตือนว่า ภาระดอกเบี้ยเป็นเสมือนมะเร็งร้ายทางการเงิน ที่แพร่เชื้อลุกลามเข้าสู่ปวงชนที่ยากต่อการรักษา (คลิกลิงค์)

 

ผมตั้งข้อสังเกตว่า

 

1. สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หนี้สาธารณะของไทย ซึ่งมีจำนวน 9,828,268.17 ล้านบาท แยกเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้ จำนวน 8,720,929.74 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจ จำนวน 843,328.46 ล้านบาท นั้น 

 

ประชาชนยังไม่ถึงกับต้องกังวลเรื่องหนี้รัฐวิสาหกิจ ตราบใดที่เป็นการกู้เพื่อทำโครงการ เพราะในอนาคต รัฐวิสาหกิจจะมีรายได้ซึ่งน่าจะเพียงพอที่จะชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

 

2 แต่หนี้ที่เป็นปัญหามาก คือหนี้ที่รัฐบาลกู้ ซึ่งในจำนวน 8,720,929.74 ล้านบาทนั้น น่าจะเป็นเงินที่กู้โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนี้ที่จะสร้างปัญหาแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างมาก

3 สาเหตุที่เงินที่กู้ โดยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์จะสร้างปัญหามาก เนื่องจากใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก อันเป็นการซื้อตัวเลข จีดีพี แต่ได้ผลประโยชน์ที่ไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้ทำให้คนไทยและชุมชนชนบทมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (productivity) เปรียบเสมือนแจกเงินให้ประชาชนเพียงเพื่อเต้นกินรำกิน กินใช้แล้วก็หมดไป ได้ประโยชน์เหมือนไฟไหม้ฟาง แต่ไม่ได้เน้นการสร้างชาติ (nation building)

 

4 ตัวเลขดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของรัฐบาล คือร้อยละ 2.42 คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 211,046.48 ล้านบาทเศษต่อปี แต่ขณะนี้ดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มจะกลับสูงขึ้น ซึ่งยอดหนี้ 8,720,929.74 ล้านบาทดังกล่าว เมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ทุก 1% จะสร้างภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกปีละ 87,209.29 ล้านบาท 
ถ้าขึ้นไปถึงระดับ 4% เท่ากับเมื่อสิบปีก่อน (ธ.ค. 2555 ดอกเบี้ย 10 ปีเท่ากับ 3.7% ธ.ค. 2556 เท่ากับ 4.1%) จำนวนเงินดอกเบี้ยแต่ละปี ก็จะเพิ่มขึ้นเกือบ double

 


5 พันตำรวจเอกทวีวิเคราะห์ว่า รัฐบาลจะประสบปัญหาชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะงบประมาณแผ่นดินมี ‘รายจ่ายประจำ’ มากกว่า 2.1 ล้านล้านบาทต่อปี (งบประมาณปี 2566 เป็นรายจ่ายประจำมากถึง 2,396,942.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.26 ของวงเงินงบประมาณ) 
แนวทางการชำระหนี้เงินกู้ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน จึงไม่มี นอกเสียจากการ “กู้หนี้ก้อนใหม่มาจ่ายคืนหนี้เงินกู้ก้อนเก่า” หรือเรียกว่า “เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ” 

 

“ดอกเบี้ย”เป็นสิ่งที่เดินไม่หยุด เปรียบเสมือนมะเร็งร้ายทางการเงินที่แพร่เชื้อลุกลามเข้าสู่ปวงชนที่ยากต่อการรักษา และเป็นภาระของคนในอนาคตต้องใช้หนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่ม 

ตัวอย่าง งบประมาณรายจ่ายปี 2565 การชำระหนี้ภาครัฐรวมจำนวน 363,269 ล้านบาท ใช้หนี้เงินต้นเพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นดอกเบี้ยมากถึง 263,269 ล้านบาท รัฐบาลจึงอยู่ในวังวน “กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า” (ใช้ดอกเบี้ย) ที่แทบมองไม่เห็นอนาคตว่าเมื่อไรจะใช้หนี้หมด 

 

และล่าสุดจากรายงานการเงินแผ่นดิน ที่รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ที่การเงินแผ่นดินรัฐบาลมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ที่เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลไทยเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะการล้มละลาย จึงเป็นห่วงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลที่แทบมองไม่เห็นอนาคตที่ดีของประชาชนชาวไทยเลย

 

6 ถ้ารัฐบาลสามารถตั้งงบใช้หนี้เงินต้น ได้น้อยเพียงแค่ 100,000 ล้านบาทต่อปี กว่าจะชำระยอดหนี้ 8,720,929.74 ล้านบาทหมด ก็จะกินเวลา 87 ปี และเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะสูงขึ้น รัฐบาลในอนาคตก็จะต้องเข้าไปในวังวน “กู้หนี้ใหม่มาใช้หนี้เก่า” (ใช้ดอกเบี้ย) มากขึ้นทุกปี เรียกว่าสาละวันเตี้ยลงแบบถาวร กว่าจะชำระหนี้หมด ก็คงนับเป็นร้อยปี

 

7 เคล็ดลับของการสร้างหนี้ ก็คือ 

 

7.1 พยายามอย่าสร้างหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เหมือนอย่างคนที่ติดนิสัยรูดเครดิตการ์ดเพื่อช้อปปิ้ง หรือเพื่อเที่ยวเตร่ รูดจนเกินกำลังรายได้ จะกู้เพื่อการนี้ได้เฉพาะถ้าคนเดือดร้อนและช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ก็ต้องทำอย่างจำกัดวงเงินให้แคบที่สุด อย่าไปเลียนแบบประเทศร่ำรวยที่แจกเงินประชาชนแบบไม่รู้จบ

 

7.2 ให้เน้นการสร้างหนี้เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ กู้เพื่อทำโครงการที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประชาชน โครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (productivity) หรือลดต้นทุนประกอบการ เพิ่มโอกาสให้แก่รากหญ้า อันเป็นการเน้นการสร้างชาติ (nation building)

 

ซึ่งตรงนี้เอง ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ถูกวิจารณ์มาตลอดว่า ทำเป็นแต่เรื่องการใช้เงิน แต่เรื่องการหาเงินทำไม่เป็น เพราะบริหารได้แต่เป็นวันๆ สไตล์ข้าราชการ 

 

รัฐบาลที่ดีจะต้องทำเรื่องหาเงินให้เป็น เพื่อในระยะยาว ผลผลิตของชาติจะสูงขึ้น รัฐบาลจะเก็บภาษีได้มากขึ้น และจะสามารถชำระหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คลิกอ่านเพิ่ม : สบน. แจง! ระดับหนี้สาธารณะไม่ทำให้ไทยเสี่ยงล้มละลาย