"อาคม"มอบ 5 นโยบายก.ล.ต. ทำแผนยุทธศาสตร์ตลาดทุน 5 ปี

25 มี.ค. 2565 | 11:53 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 20:28 น.

คลังมอบ 5 นโยบายก.ล.ต. พร้อมกำชับ นำแผนฟินเทคผนวกแผนตลาดทุนไทย 5 ปี (2565-2570 ) ชี้แม้เจอวิกฤตโควิด ตลาดทุนไทยยืดหยุ่นและปรับตัวเร็ว หนุน SET INDEX โตกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด พบนักลงทุนรายย่อยไทยลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชี้เป็นความท้าทายในการกำกับดูแล

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายพัฒนาตลาดทุนไทย กลไกพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19" ในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ปี 2565 โดยกล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายในการพัฒนาตลาดทุนไทย ไว้ 5 ด้านและให้ ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพในการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมจัดทำเป็นแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2565 – 2570 หรือ 5 ปีข้างหน้า พร้อมย้ำให้พิจารณาผนวกแผนฟินเทค (Fintech) ในแผนตลาดทุนดังกล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

เช่น การนำหลักคิดและกลไกของบล็อกเชน มาปูพื้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบ และติดตามได้ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะถัดไป

สำหรับนโยบาย 5 ด้าน ได้แก่

  • 1.การส่งเสริมการเข้าถึงการระดมทุนและการลงทุนผ่านกลไกตลาดทุน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG และ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 กลุ่ม หรือ new s-curve รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยี SME และ Startups

 

  • 2.การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยผ่านการยกระดับมาตรฐานให้ทัดเทียมกับสากล การยกระดับ Visibility ของตลาดทุนไทยในเวทีโลกและภูมิภาค รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ด้านการเงินการลงทุนที่น่าสนใจ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้ลงทุน
  • 3.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับตลาดทุน โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของดิจิทัล เช่น distributed ledger technology เพื่อปรับกระบวนการต่างๆสู่ธุรกิจอัตโนมัต เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิผลและโปร่งใสมากขึ้น

 

  • 4.การพัฒนาตลาดทุนที่ยั่งยืน โดยตลาดทุนไทย จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจจริง สู่การนำเอาปัจจัยด้าน ESG มาผนวกกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นรากฐานการบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

 

  • 5.การสนับสนุนสุขภาพทางการเงินที่ดีของประชาชนในระยะยาว  โดยเฉพาะในวัยเกษียณ ให้มีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน

 

นายอาคมกล่าวอีกว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดทุนเกิดความผันผวนมากขึ้น แต่ตลาดทุนไทยมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ดี และยังได้แสดงบทบาทในการเป็นช่องทางการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ โดยที่ผ่านมาตลาดทุนไทยสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และในปี 2564 ขนาดของตลาดทุนไทยคิดเป็น 1.2 เท่าของ GDP

 

ขณะที่ตลาดตราสารหนี้รวมทั้งของภาครัฐและเอกชน คิดเป็น 0.9 เท่าของ GDP ขณะเดียวกันผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นต่อเนื่องและมีความหลากหลาย ซึ่งพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดทุน และในระยะหลังที่ผ่านมา ตลาดทุนไทยยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศได้ต่อเนื่อง

 

ขณะที่สภาวะตลาดทุนไทยในช่วงปี 2563-2564 ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว SET INDEX ปรับตัวขึ้นมา 50% ในช่วงสิ้นปี 64 จากจุดต่ำสุดในรอบ 8 ปี เมื่อเดือนมีนาคม 63 และระดับดัชนีดังกล่าวยังสูงกว่าระดับดัชนี ณ สิ้นปี 62 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดโควิด และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค

 

สำหรับการออกเสนอขายหลักทรัพย์ใหม่ทั่วไปเป็นครั้งแรกในปีที่แล้ว หรือ IPO มีกว่า 40 หลักทรัพย์ สูงสุดในรอบ 4 ปี มีมูลค่าเสนอขายรวม  1.37 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน และยังมีการระดมทุนผ่านช่องทางสินทรัพย์ดิจิตัล จำนวน 1 ราย มูลค่าเสนอขายรวม 2.4 พันล้านบาท และมี SME ระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์วงแคบ จำนวน 11 บริษัท มูลค่ารวม 90 ล้านบาท และผ่าน Cloud funding 140 บริษัท มูลค่ารวมเกือบ 1.4 พันล้านบาท

 

ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวัน ตลาดหุ้นไทยยังคงมีมูลค่าสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์อาเซียน ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 10  โดยปี 64 มี มูลค่า 84,443 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% จากปี 63 โดยมีผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนการซื้อขายสูงสุดอย่างต่อเนื่อง

 

ในส่วนของตราสารหนี้ภาคเอกชน มีการออกตราสารหนี้ระยะยาว มูลค่า เกินกว่า 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% เทียบกับปี 63  และตราสารหนี้ระยะสั้นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆยังสามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม

 

ในส่วนของตราสารหนี้ภาครัฐ กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง หรือที่เรียกว่า Wallet สะสมบอนด์มั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมและยกระดับการเข้าถึงตราสารหนี้ของประชาชนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง  โดยสิ้นปี 64 มีมูลค่ารวม 30,200 ล้านบาท นอกจากนี้ภาครัฐและเอกชนยังเสนอขายตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน โดยสิ้นปี 64  มีมูลค่า 1.75 แสนล้านบาทอีกด้วย

 

ด้านเงินลงทุน ตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่ามีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสุทธิกว่า 1.4 แสนล้านบาท โดยสิ้นปี 64 ผู้ลงทุนต่างชาติถือครองพันธบัตรไทยสูงเป็นประวัติการณ์ ที่กว่า 1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.8% ของมูลค่าคงค้าง

 

อีกด้านหนึ่ง คือ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในสิ้นปีที่ผ่านมานั้น มีมูลค่ารวมทั่วโลกอยู่  2.26 ล้านล้านเหรียญ และในเดือน ธ.ค. 64 มีผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศไทยเปิดบัญชีเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนบัญชี และยังเป็กลุ่มหลักในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดีราคาสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนสูงมาก เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ และมีพัฒนาการและการเติบโตที่รวดเร็วทั้งด้านนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญและมีความท้าทายในด้านการกำกับดูแล