ธปท. ชี้ 3ปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

23 ก.พ. 2565 | 20:43 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 04:30 น.

ธปท.เปิดรายงานนโยบายการเงิน ชี้3ปัจจัย “โควิดกลายพันธุ์ ราคาพลังงานโลก-การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นต่อราคา-บริการเป็นวงกว้าง กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย-หวั่นกระทบค่าครองชีพ ภายใต้ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง-รายได้แรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าใน 1-2 ปีข้างหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 4 และ 9 กุมภาพันธ์ 2565 (เมื่อวันที่ 23ก.พ.2565) โดยระบุ

ภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดการเงินเศรษฐกิจคู่ค้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้น โดยผลกระทบของการระบาด COVID-19 สายพันธุ์Omicron ต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าการระบาดระลอกที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตต่ำเมื่อเทียบกับการระบาดของสายพันธุ์ก่อนหน้า

 

ประเทศส่วนใหญ่เร่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขณะที่บางประเทศกลับมาใช้มาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มขึ้นบ้างแต่เน้นมาตรการเฉพาะจุด อย่างไรก็ดี สถานการณ์ COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน จึงยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานโลก (global supply disruption) ที่ยังยืดเยื้อ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ตึงเครียดขึ้นและอาจส่งผลให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (advanced economies: AEs) มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงเดิม

 

ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการระบาด COVID-19 (zero COVID  Policy) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริโภค และมาตรการลดความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุน

ด้านเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์เป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์โลกที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และปัญหา global supply disruption ที่คลี่คลายลงบ้าง

 

ตลาดการเงินโลกเคลื่อนไหวผันผวนสูง หลังธนาคารกลางกลุ่ม AEs โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาด อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในหลายประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลง

 

สำหรับตลาด การเงินไทยเคลื่อนไหวสอดคล้องกับตลาดการเงินโลก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะยาวปรับ สูงขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและระยะปานกลางเคลื่อนไหวทรงตัวตามแนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวน ดัชนี ค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) แข็งค่าขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน โดยมีแรงกดดันด้านแข็งค่าจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่มีแรงกดดันด้านอ่อนค่าจากแนวโน้ม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ที่เร็วกว่าคาด

 

ตลาดการเงินในระยะต่อไปอาจผันผวนสูงขึ้น โดย มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่

1.การเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะ  Fed ที่เร็วกว่าคาดจากความกังวลเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

2.ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ การระบาดและการกลายพันธุ์ของ COVID-19 และ

3.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลให้ราคา พลังงานโลกอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวดีกว่าที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนและมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องใน ปี 2565 จากการส่งออกสินค้าโดยเฉพาะหมวดรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ปรับดีขึ้นตามอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและปัญหา global supply disruption ที่คลี่คลายลงบ้าง

 

ด้านจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทางและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัว (Test & Go) ที่เร็วกว่าคาด

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวทั้งปี 2565 ในอัตราที่ลดลงกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยเป็นผลจากเครื่องชี้ในช่วงปลายปี 2564 ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้เป็นสำคัญ

 

ขณะที่รายได้แรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการ สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี2566 มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องแต่ชะลอลงกว่าที่คาดไว้เดิมเล็กน้อยส่วนหนึ่งจากแรงสนับสนุนของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะทยอยลดลง โดยเฉพาะการบริโภคภาครัฐที่มีทิศทางลดลงตามกรอบงบประมาณปี 2566 และ 2567

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 มีแนวโน้มสูงกว่าที่ประเมินไว้และอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีจากการปรับขึ้นราคาสินค้าในบางหมวด (sector-specific) โดยเฉพาะ

  1. ราคาพลังงาน (สัดส่วนร้อยละ 12 ในตะกร้าสินค้าของดัชนีราคาผู้บริโภค) ที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบโลกจากปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ความต้องการน้ำมันดิบที่สูงขึ้นภายหลังตลาดเริ่มคลายกังวลต่อ Omicron และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ตึงเครียดขึ้น และ
  2. ราคาเนื้อสัตว์ และราคาอาหารสำเร็จรูป (สัดส่วนร้อยละ 9 และร้อยละ 15 ในตะกร้าสินค้าของดัชนีราคาผู้บริโภค ตามลำดับ) ที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาเนื้อสุกรที่สูงขึ้นจากโรคระบาดในสุกรเป็นหลัก โดยปัญหาจะเริ่มคลี่คลาย คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือน

 

อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีและอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ใน ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย และยังไม่เห็นสัญญานของการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเป็นวงกว้าง (broad-based) โดยสัดส่วนจำนวนสินค้าและบริการของไทยที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบอดีตคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 ของตะกร้าสินค้าฯ ซึ่งน้อยกว่าสัดส่วนดังกล่าวของสหรัฐฯ ที่สูงถึงร้อยละ 35 ของตะกร้าสินค้าฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจไทย

 

ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง โดยจะต้องติดตาม

  1. สถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของ COVID-19
  2. ราคาพลังงานโลก โดยเฉพาะผลจากความ เสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และ
  3. การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ อภิปราย

• คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวยังแตกต่างกันใน แต่ละภาคเศรษฐกิจ และต้องใช้เวลาก่อนที่จะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาด

 

นอกจากนี้ สถานการณ์COVID-19 ยังมีความไม่แน่นอน แม้การระบาดของ Omicron จะสร้างแรงกดดันต่อ ระบบสาธารณสุขในวงจำกัด แต่ยังต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนและการระบาดของ COVID-19 ในภาพรวม รวมทั้งการปรับมาตรการควบคุมการระบาดของไทยและต่างประเทศในระยะต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทย

 

ด้านการบริโภค ภาคเอกชนในประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน จากผลของการ ระบาดของ Omicron และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ทยอยลดลง แต่โดยรวมการบริโภค  ราคาเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 standard deviation ของค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงของราคาในช่วง 5 ปีย้อนหลัง

 

ภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปี 2565 นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามความทั่วถึงของการฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจ รวมถึงผลกระทบของค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น ภายใต้ภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไป

 

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้นและอาจสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 3 ในช่วงแรกของปี 2565 จากการปรับขึ้นของราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท โดยความเสี่ยงที่ราคาพลังงานโลกจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาดปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ ทั้งนี้กลไกกองทุนน้ำมันของภาครัฐจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานโลกได้บางส่วน

 

 อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงที่ อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่องยังมีไม่มาก เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำตามรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ทำให้การส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการทำได้จำกัด

 

แต่ต้องติดตามราคาพลังงานโลก โอกาสที่จะเกิดการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง และแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานอย่างใกล้ชิด

 

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าราคาน้ำมันและราคาอาหารสดที่ปรับสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของกลุ่มรายได้แตกต่างกัน โดยครัวเรือนรายได้น้อยจะเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากค่าใช้จ่ายหมวดอาหารมากกว่าครัวเรือนรายได้สูง (ครัวเรือนรายได้น้อยและครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายหมวดอาหารเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 45 และร้อยละ 26 ของค่าใช้จ่ายรวม ตามลำดับ)

 

ขณะที่ครัวเรือนรายได้สูงจะเผชิญค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานมากกว่าครัวเรือนรายได้น้อยบ้าง (ครัวเรือนรายได้น้อยและครัวเรือนรายได้สูงมีค่าใช้จ่ายหมวดพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11 และร้อยละ 13 ของค่าใช้จ่ายรวม ตามลำดับ)

 

นอกจากนี้ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นดังกล่าวยังส่งผลกระทบเพิ่มเติมต่อผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการที่รายได้ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น

• คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางและไม่ทั่วถึง และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป โดยรายได้แรงงานมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าใน 1-2 ปีข้างหน้าจาก

  1. ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า
  2. ผู้ประกอบการจำกัดการจ้างงานในช่วงที่ ความไม่แน่นอนของ COVID-19 ยังไม่ลดลงชัดเจน และ
  3. การย้ายกลับภูมิลำเนาหรือการออกนอกระบบของแรงงานบางส่วนและอาจไม่กลับเข้าระบบ ซึ่งอาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและ ตลาดแรงงานในระยะต่อไป

 

ด้านเสถียรภาพระบบการเงิน เสถียรภาพภาคครัวเรือนยังเปราะบาง ภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ขณะที่ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นและรายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

 

คณะกรรมการฯ เห็นควรให้เร่งผลักดันมาตรการที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อลดทอนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะกรณีที่ มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่จะกระทบรายได้สุทธิของครัวเรือน

 

คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่าแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน (monetary  policy divergence) ในแต่ละกลุ่มประเทศอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงิน โดยธนาคารกลาง กลุ่ม AEs มีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินอยู่ในช่วงวัฏจักรขาขึ้น (hiking cycle) เพื่อดูแล อัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดหรือสูงกว่าแล้ว

 

สำหรับ ธนาคารกลางกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets: EMs) ในละตินอเมริกา เผชิญ แรงกดดันเงินเฟ้อสูง รวมทั้งค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยภายนอก เนื่องจากมีหนี้ต่างประเทศสูง จึงมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม AEs

 

ขณะที่ธนาคารกลางของกลุ่ม EMs เอเชีย ไม่ได้เผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อมากเท่ากับประเทศในกลุ่ม AEs หรือ EMs ละตินอเมริกา และยังให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ monetary policy divergence อาจนำไปสู่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

 

อย่างไรก็ดี เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมีความเข้มแข็ง จากหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ เงินสำรอง ระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และธุรกิจส่วนใหญ่กู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งระดมทุนจากเงินฝากในประเทศ ทำให้ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดโลกต่อภาวะการเงินไทยอยู่ในระดับที่รองรับได้นโยบายการเงินไทยจึงยังสามารถให้น้ำหนักกับการดูแลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพ ระบบการเงินภายในประเทศ

การดำเนินนโยบายการเงินคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปีเพื่อสนับสนุนการฟื้น ตัวของเศรษฐกิจ

คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การระบาดของ Omicron คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุขในวงจำกัด ความเสี่ยงด้านต่ำต่อเศรษฐกิจโดยรวมจึงลดลง แต่ยังต้องติดตามการระบาดในระยะต่อไป

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงแรกของปี 2565 จากราคาพลังงานและอาหารสดบางประเภท และมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนรายได้และกำลังซื้อที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามราคาพลังงานโลกและสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง

 

ด้านเสถียรภาพการเงินยังเปราะบาง โดยภาระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ยังอยู่ในระดับสูง คณะกรรมการฯ ได้ประเมินความเสี่ยงของเป้าหมายทั้ง 3 ด้าน เห็นว่ายังควรให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

ขณะที่ให้ติดตามแรงกดดันเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ย นโยบายไว้ โดยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับ มาตรการทางการเงินการคลังที่เน้นการฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ตลาดแรงงาน รวมถึงรายได้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ยังเคลื่อนไหวผันผวน จากแนวโน้ม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางกลุ่ม AEs ที่เร็วขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มตัวชัดเจนขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ

 

จึงเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ

 

มาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

 

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะ การเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง และมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมีส่วนช่วยกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบอย่างตรงจุดและช่วยลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงิน ไม่ให้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

 

คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ แนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือ นโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็นสำหรับในระยะปานกลาง

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินตามแนวโน้มและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์และประสิทธิผลของเครื่องมือเชิงนโยบายด้านอื่น ๆ ในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันสะท้อนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าด้านอื่น ๆ

 

อย่างไรก็ดีมองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็งขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงผลกระทบและประสิทธิผลของนโยบายในระยะปานกลางเป็นสำคัญ

 

อนึ่ง  รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 4 และ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย

เผยแพร่ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565

- กรรมการที่เข้าร่วมประชุม    นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นางสาววชิรา อารมย์ดีนายคณิศ แสงสุพรรณ นายรพี สุจริตกุล นายสมชัย จิตสุชน นายสุภัค ศิวะรักษ์