ด่วน! กรมสรรพากร ให้กรอกเงินได้จาก "คริปโทเคอร์เรนซี" ในแบบยื่นภาษีแล้ว

02 ม.ค. 2565 | 12:07 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ม.ค. 2565 | 01:13 น.
8.6 k

กรมสรรพากรปรับแบบยื่นภาษี เพิ่มรายการเงินได้จากการลงทุน “คริปโทเคอร์เรนซี-โทเคนดิจิทัล” แล้ว อธิบดีสรรพากรชี้ถ้ามีกำไรจากการเทรดต้องยื่นแบบ ลั่นหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นเจอตรวจสอบแน่เพราะใช้ data analytics ตรวจสอบข้อมูลได้

วันนี้(วันที่ 2 มกราคม 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2564 ที่กรมสรรพากรให้ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 นั้น ล่าสุด กรมสรรพากร ได้ปรับปรุงรายการการยื่นแบบแสดงรายได้ โดยเพิ่มรายได้จากการลงทุน ตามมาตรา 40 (4)
ที่เป็น “ดอกเบี้ย เงินปันผล จากบริษัทต่างประเทศ ประโยชน์ใด จากคริปโทเคอร์เรนซี หรือ โทเคนดิจิทัล เงินเพิ่มทุน เงินลดทุนเพื่อให้ผู้เสียภาษีที่มีเงินได้ประเภทนี้ได้ยื่นแสดงเงินได้ด้วย

 

ด่วน! กรมสรรพากร ให้กรอกเงินได้จาก \"คริปโทเคอร์เรนซี\" ในแบบยื่นภาษีแล้ว

 

นั่นหมายความว่าผู้มีเงินได้ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลในปีที่แล้ว (ปี 2564) จำเป็นต้องใส่จำนวนเงินได้ของตนเองในแบบที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีที่ต้องจ่าย

 

ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าประโยชน์จากคริปโทเคอร์เรนซี จะคำนวณอย่างไร และถ้าคนใส่ข้อมูลไม่ครบ กรมสรรพากรจะตรวจเจอหรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องติดตาม 

 

อย่างไรก็ตามสำหรับภาษีหุ้นทั่วโลกมีเก็บ 2 รูปแบบ คือ transaction tax และ capital gain tax (ภาษีกำไรจากการขายหุ้น) หลายประเทศเก็บทั้ง 2 รูปแบบ แต่ไทยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดเก็บ transaction tax ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ และมีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า สำหรับการจัดเก็บภาษี "สินทรัพย์ดิจิทัล" (digital asset) อย่างคริปโทเคอร์เรนซีนั้น มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุชัดเจนว่า สินทรัพย์ดิจิทัลหากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของกำไร และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ดังนั้นในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 สรรพากรจึงมีช่องให้เลือกสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี เพื่อให้ผู้เสียภาษีแสดงเงินได้ ซึ่งหากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่นทางกรมมีระบบ data analytics เพื่อตรวจสอบข้อมูล รวมทั้งยังมีอำนาจในการออกหมายเรียกพยานได้ เช่น หากสรรพากรมีข้อมูลที่เชื่อว่าบุคคลดังกล่าวมีกำไรจากการซื้อขายคริปโทก็มีอำนาจเรียกเข้ามาให้ข้อมูลได้

 

ทั้งนี้กรมสรรพากรกำลังศึกษาเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (financial transaction tax) อัตรา ร้อยละ 0.1 จากมูลค่าการขาย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเก็บปีหน้า และทำให้มีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องจัดเก็บเนื่องจากต้องสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ