สศช.เตรียมออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อระดับกลางปลายปีนี้

15 พ.ย. 2564 | 13:51 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ย. 2564 | 20:53 น.

สภาพัฒน์คาด เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะขยายตัวดีกว่าไตรมาส 3 ที่ติดลบ 0.3% ทั้งจากมาตรการรัฐที่ออกมาแล้ว และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อระดับกลางปลายปีนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2564 หากไม่เกิดเหตุการณ์เกินที่คาดหมายไว้  มีโอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ออกมาติดลบ 0.3 % จากที่ขยายตัว 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วลดลง 1.1% และเมื่อรวม 9 เดือนปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 1.3%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

"จากมาตรการที่ได้ดำเนินการไปก่อนหน้า และที่กำลังดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือมาตรการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้และเห็นพัฒนาการของการควบคุมการระบาดในประเทศที่ทำได้ดี จากยอดการระบาด 20,000 คนเหลือ 6,000 คนและประสิทธิภาพด้านสาธารณสุขที่แก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น หากไม่เกิดสถานการณ์ระบาดรุนแรง หรือสถานการณ์ไม่คาดไว้ไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัวเรื่อยๆ และโอกาสขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ 3"นายดนุชากล่าว 

นายดนุชากล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนเสนอในภาครัฐดำเนินมาตรการช้อปดีมีคืนว่า ที่ผ่านมาภาครัฐจะรับข้อเสนอของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับว่า กำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมด้านกำลังซื้อระดับกลางและสนับสนุนการผลิตด้วย โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะออกมาตรการลักษณะไหนและช่วงเวลาที่จะออก เพื่อให้เกิดแรงส่งต่อการบริโภตอย่างต่อเนื่องในปลายปีนี้

 

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการสศช.กล่าวยืนยันว่า สำหรับงบประมาณที่จะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายก่อนสิ้นปีนั้น ขณะนี้ยังมีเงินเหลือ 2.2 แสนล้านบาท จากวงเงิน 5แสนล้านบาท แต่ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย เพราะอย่าลืมว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงในปี 2565 อย่างไรก็ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะออกมาอาจจะไม่ได้ใช้วงเงินในงบ  500,000 ล้านบาทก็ได้ 

ทั้งนี้ สศช.ให้น้ำหนักในการควบคุมการระบาดของโควิด และการเร่งกระจายวัคซีน  รวมถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่มีความเป็นห่วงเรื่องแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ทยอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ  

 

ซึ่งในส่วนนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อยู่ระหว่างดำเนินการเร่งกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านธนาคารพาณิชย์และธนาคารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเช่น  มาตรการรวมหนี้ Debt Consolidation)ซึ่งเข้าใจว่าธปท.อยู่ ระหว่างหารือกับสถาบันการเงิน ซึ่งมาตรการรวมหนี้ต้องเร่งทำออกมา
 

ทั้งนี้มาตรการรวมหนี้  ในหลักการคือ  การรวมหนี้เป็นก้อนเดียว (บ้าน บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) เพื่อรีไฟแนนซ์ข้ามธนาคาร  ซึ่งขณะนี้ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมออกกฎเกณฑ์ในทางปฎิบัติ