BKI เดินหน้าขยายตลาด รุกประกันภัย ‘กัญชา กัญชง’

25 ต.ค. 2564 | 18:07 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 01:18 น.

BKI เดินหน้าขยายตลาด “ประกันรถยนต์ กัญชากัญชง ภัยไซเบอร์” ไตรมาส 4 ปีนี้ถึงปี 65 คาดสิ้นปีนี้ เบี้ยประกันแตะ 2.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% เดินหน้าเชื่อมแพลตฟอร์ม หวังลดต้นทุน กดเบี้ยถูกลง

ปี 2564 นับเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยที่มีการติดเชื้อง่าย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การเคลมประกันโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบ พุ่งขึ้น ทำให้กระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) หลังจากบริษัทฯมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จนไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดได้

 

นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. กรุงเทพประกันภัย (BKI) ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยปี 2564 น่าจะเติบโต 3-5% โดยมีเบี้ยประกันรับรวมราว 260,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีเบี้ยประกันภัยโควิดเข้ามาเกือบ 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราเติบโตกว่า 5% ขณะที่เซ็กเตอร์อื่นๆ มีทั้งหดตัวและไม่ได้เติบโตมากนักสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

BKI เดินหน้าขยายตลาด รุกประกันภัย ‘กัญชา กัญชง’

รวมถึงประกันภัยรถยนต์ที่ยอดขายรถใหม่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อไม่สามารถทำได้มากนัก เนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่และโครงการลงทุนภาครัฐก็มีความล่าช้า โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการปิดไซด์งานก่อสร้าง ทำให้โครงการล่าช้าออกไป

 

ดังนั้นครึ่งปีหลังเชื่อว่า ภาพรวมของเบี้ยประกันภัย น่าจะเติบโตน้อยกว่าครึ่งปีแรก โดยภาพรวมทั้งอุตสาหกรรมน่าจะยังเติบโตได้เฉลี่ย 3-5% โดยในส่วนของบมจ.กรุงเทพประกันภัยคาดว่า จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ประมาณ 5% โดยมีเบี้ยประกันรับรวม 24,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8-9% ของเบี้ยประกันภัยภาพรวม

สาเหตุที่่ BKI สามารถผลักดันเบี้ยประกันรับได้ตามเป้านั้น ส่วนหนึ่งมาจากเบี้ยประกันภัยโควิดและวัคซีนที่เข้ามา 700 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยประกันภัยด้านการขนส่งสินค้า มีอัตราเติบโตตามการส่งออก แต่ในหมวดประกันอัคคีภัยหดตัว เนื่องจากการประกันภัยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและประกันภัยอุตสาหกรรมผ่านธนาคารกรุงเทพหดตัวลง

 

สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ BKI จะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องถึงปีหน้าจาก 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัย 40% ของเบี้ยรับรวม  24,000 ล้านบาท โดยจะเลือกทำตลาดในกลุ่มรถ SUV รถบรรทุกที่เน้นมาตรฐานในการควบคุมการขับขี่ เพราะหมวดการขนส่งมีโอกาสเติบโตตามสถานการณ์เปิดประเทศ รวมถึงประกันภัย 2 พลัส (2+)

BKI เดินหน้าขยายตลาด รุกประกันภัย ‘กัญชา กัญชง’

อีกกลุ่มคือ ประะกันภัยอื่นๆ (นอนมอเตอร์) เช่น ประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดย BKI มีแคมเปญ ประกันภัยสุขภาพที่ให้ความคุ้มครองคนไข้ใน ด้วยค่าเบี้ยประกันต่ำไม่ถึง 1 หมื่นบาท ส่วนคนไข้นอก จะเน้นใช้เทคโนโลยีเทเมดิซีนตอบสนองไลฟ์ไตล์ของลูกค้าที่ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล โดยเป็นทางเลือกสำหรับปรึกษาแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ได้

 

ขณะเดียวกัน จะขยายผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางด้านโจรกรรมภัย ข้อมูลไซเบอร์ ทั้งระดับบุคคล โดยคุ้มครองความเสียหายจากการซื้อสินค้าออนไลน์ และคุ้มครองสินค้าระหว่างส่งมอบ และประกันภัยระดับธุรกิจกับอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและเป็นอีกช่องทางในการขยายงานประกันภัย โดยคาดว่า สิ้นปีนี้น่าจะมีเบี้ยประกันภัยเกิน 50 ล้านบาท และปีหน้าความต้องการซื้อประกันภัยไซเบอร์น่าจะเข้มข้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ถูกเลื่อนออกไปและจะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

 

ทั้งนี้ BKI เริ่มทำตลาดประกันภัยกัญชากัญชง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ โดยมีผู้ได้รับอนุญาตในการปลูกเพิ่มขึ้น นอกจากให้ความคุ้มครองในแง่ของต้นทุนในการเพาะปลูก ความเสียหายจากภัยต่างๆ แล้ว  ซึ่งผลิตภัณฑ์กัญชากัญชงมีมูลค่าพอควร หากเกิดความเสียหายจะเป็นภาระของผู้ประกอบการ โดยค่าเบี้ยประกัน จะขึ้นกับต้นทุนการเพาะปลูก (เช่น เพาะปลูกภายนอก เพาะปลูกในกรีนเฮ้าส์ และเพาะปลูกภายใน) และจำนวนเงินเอาประกันของผู้ประกอบการแต่ละราย

 

“ทุกบริษัทเน้นบริหารจัดการปริมาณเคลมโควิดที่เข้ามามาก ทำให้การแข่งขันด้านราคาไม่รุนแรง และเราเองยังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำงานบนออนไลน์แพลตฟอร์ม เพื่อลดต้นทุนในการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าต้นทุนลดลงได้ภายใน 2-3 ปีลูกค้าจะได้ประโยชน์ที่เบี้ยประกันภัยถูกลง”นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,725 วันที่ 24 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564