ปิดฉากเอเชียประกันภัย เช็คมาตรการเยียวยาลูกค้า-ช่องทางติดต่อร้องเรียน

16 ต.ค. 2564 | 00:26 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2564 | 03:47 น.
11.9 k

พิษโควิด! เอเชียประกันภัย ถูกคลังสั่งปิด เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ พร้อมให้กองทุนประกันวินาศภัยรับช่วงดูแลลูกค้าต่อ ตรวจสอบช่องทางการช่วยเหลือลูกค้า มาตรการดูแลทั้งหมดได้ที่นี่

หลังจากตกเป็นข่าวมาต่อเนื่อง สำหรับเอเชียประกันภัย กรณีเกี่ยวกับการเคลมประกันภัยโควิด -19 ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ได้เข้าไปกำกับดูแล ตรวจสอบสถานะการดำเนินงาน งบการเงิน กำไร รายได้ หนี้สิน

 

อย่างไรก็ตามในวันนี้กระทรวงการคลัง มีคำสั่งให้ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป 

 

สาเหตุหลักๆของการสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัทฯมีฐานะการเงินไม่มั่นคง , มีหนี้สินมากว่าทรัพย์สิน ,ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ตามเวลาที่กำหนดและไม่สามารถแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าสินไหมได้ ,มีการเลิกจ้างพนง.เป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีที่บริษัทฯเคยบอกว่าจะมีการร่วมทุน เมื่อตรวจสอบแล้วก็พบว่า ไม่มีความชัดเจนในการร่วมทุน ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น

 

ด้วยปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ ทางคปภ.จึงได้มีการประชุมและมีมติเสนอต่อกระทรวงการคลัง ให้เพิกถอน บ.เอเชียประกันภัย และเป็นที่มาที่ไปของคำสั่งที่มีผลในวันนี้ 
 

การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย หรือการสั่งปิดในครั้งนี้ แน่นอนว่าย่อมทำให้ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ของเอเชียประกัยภัยมีความกังวลใจ อย่างไรก็ตามทางคปภ.ซึ่งรับหน้าที่ในการชี้แจงแถลงไขถึงสาเหตุการเพิกถอนในครั้งนี้ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ยืนยันว่า ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์เอเชียประกันภัยที่ยังอยู่ในความคุ้มครอง จะได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยผู้ที่จะมาทำหน้าที่ดูแลลูกค้าต่อก็คือ กองทุนประกันวินาศภัย

 

"ฐานเศรษฐกิจ"รวบรวมข้อมูล มาตรการเยียวยาลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ พร้อมทั้งช่องทางการติดต่อ ร้องเรียน โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

 

มาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้า 

คปภ. ได้เตรียมมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าผู้เอาประกันภัย โดยร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 13 บริษัท ดังนี้ 

  • ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ แล้ว ให้ติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้วเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไม่สะดุด

 

  • ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับบริษัทฯ ให้ยื่นเรียกร้อง  ค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
     
  • ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ได้ดังนี้ 1.ขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัย  ให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่  หรือ 2. นำเบี้ยประกันภัยที่จะได้รับคืนไปใช้แทนเงินสดในการเลือกซื้อประกันภัยได้จากบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ ได้ทุกประเภทกรมธรรม์ประกันภัย 

 

 

นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกทางเลือก นั่นก็คือ 

  • ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สามารถนำเบี้ยประกันภัย ไปซื้อความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะภาวะโคม่า ในวงเงินความคุ้มครอง 300,000 บาท เบี้ยประกันภัย 300 บาท 

 

  • หรือนำเบี้ยประกันภัยไปซื้อความคุ้มครองกับบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะได้ส่วนลดเบี้ยประกันภัยเพิ่มอีก 10% ของกรมธรรม์ใหม่ แต่ไม่เกิน 500 บาท ยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 

 

ช่องทางการติดต่อ -รับเรื่องร้องเรียน 

  • จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง 

 

สถานที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

  • กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 11-15 และ 21-24
  • สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้ 

 

ส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้

  • สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect)
  • สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3
  • สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16  อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70    

 

ส่วนภูมิภาค

  • สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ

 

พัฒนาแอปพลิเคชันรับการติดต่อลูกค้า

  • สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมพัฒนาแอปพลิเคชันโดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์ 

 

เตรียมเพิ่มคู่สายดูแลลูกค้า

  • ร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 47 คู่สาย เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะเพิ่มเป็น 100 คู่สาย ในระยะถัดไป

 

ขั้นตอนการยื่นเรื่อง

หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทฯ 

  • ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ

เอกสารที่ต้องเตรียม

  • นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) 

 

หากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย 

  • ให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)

 

หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเอง 

  • จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทฯ