ธ.ก.ส. ชี้ คลายล็อกดาวน์ช่วยหนุนสินค้าเกษตรหลายตัวราคาขึ้น

31 ส.ค. 2564 | 16:17 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2564 | 23:27 น.

ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย. 64 หลายตัวมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ค่าบาทที่อ่อนตัวลง และมาตรการคลายล็อกดาวน์ ยกเว้นข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกเหนียว หลังอินเดีย เวียดนาม เพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลก

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2564  โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,075 - 10,465 บาท/ตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.42 - 5.35 เนื่องจากเป็นช่วงที่ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิมีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นสูงที่สุดจากสต็อกข้าวของผู้ประกอบการที่ลดลง  ยางพาราแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 49.00 - 52.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.31 – 6.45 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณยางพาราในประเทศที่ออกสู่ตลาดลดลง การขาดแคลนแรงงานกรีดยางพารา และภาวะฝนตกชุกในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และความต้องการในประเทศคู่ค้าที่เติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีน อย่างไรก็ตาม สต็อกยางพาราโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอาจเป็นปัจจัยกดดันราคายางพาราในตลาดซื้อขายล่วงหน้าได้ มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.01 – 2.05 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 – 2.50 เนื่องจากปริมาณผลผลิตปรับตัวลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสูงขึ้น และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง 

สมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส.

ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 6.78 - 7.37 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.04 - 9.80 เนื่องจากนโยบายภาครัฐขยายระยะเวลาโครงการผลักดันการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อลดผลผลิตส่วนเกินปี 2564 และราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบของตลาดประเทศมาเลเซียสูงขึ้น  และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 126 - 127 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.80 - 1.50 เนื่องจากคาดว่าจะเริ่มมีการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2564 ทำให้ร้านอาหารกลับมาเปิดบริการและสามารถเดินทางได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณกุ้งลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทำให้เกษตรกรลดจำนวนและเลื่อนเวลาการปล่อยลูกกุ้ง

คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรเดือน ก.ย.64

 

ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,211 - 7,405 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.36 - 4.01 เนื่องจากการปรับลดราคาส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ อาทิ ประเทศอินเดีย และประเทศเวียดนาม เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในตลาดโลก และส่งผลกดดันให้ราคาส่งออกข้าวลดลง  ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 9,114 - 9,311 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.69 - 3.77 เนื่องจากมีการคาดการณ์ผลผลิตข้าวเหนียวนาปีที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีจะมีปริมาณมากกว่าปีก่อนค่อนข้างมาก ขณะที่ความต้องการบริโภคมีเท่าเดิม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 7.60 - 7.69 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.40 - 1.50 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว คาดว่าปริมาณผลผลิตในเดือนนี้จะออกสู่ตลาดประมาณร้อยละ 17.53 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ขณะที่ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นไม่มากจากการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสัญญาส่งมอบถั่วเหลืองปรับตัวลดลง 

 

ส่วน น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 19.49 - 19.69 เซนต์/ปอนด์ (14.11 - 14.25 บาท/กก.) ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.50 - 1.50 เนื่องจากมีความชัดเจนว่าประเทศอินเดียจะดำเนินนโยบายอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลซึ่งส่งผลกดดันราคาน้ำตาลในตลาดโลก ประกอบกับทิศทางราคาน้ำมันในเดือนกันยายนที่คาดว่าจะลดลง ซึ่งจะทำให้ความต้องการเอทานอลปรับลดลง อาจกระตุ้นให้โรงงานน้ำตาลของประเทศบราซิลเพิ่มการผลิตน้ำตาลมากกว่าเอทานอล ส่งผลให้ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มขึ้น สุกร ราคาอยู่ที่ 67.26 - 67.98 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 2.32 - 3.31 เนื่องจากโรงฆ่าสุกรบางพื้นที่ถูกระงับการดำเนินงานชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีสุกรเหลือสะสมในฟาร์มสุกรจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนความต้องการบริโภค และส่งผลให้ราคาสุกรปรับตัวเพิ่มขึ้น  และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 94.50 - 95.10 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.05 – 0.58 เนื่องจากจำนวนโคเนื้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความต้องการบริโภคที่ลดลง ส่งผลกดดันราคาซื้อขายโคเนื้อภายในประเทศปรับตัวลดลง